FORGOT YOUR DETAILS?

“หลวงปู่พรหมมา เขมจาโร” แห่งวัดสวนหินผานางคอย บ้านดงนา ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี พระเถราจารย์ผู้มีอายุกาลสูงถึง ๑๐๕ ปี เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนไทย-ลาว มาช้านาน ได้รับสมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำโขง”

ชาติภูมิเป็นชาวบ้านกุษกร อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เกิดในสกุล “อ่อนจันทึก” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา แต่ท่านกลับชอบที่จะศึกษาเรื่องตำรายาสมุนไพร

อายุ ๑๒ ปี เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บรรพชา โดยมี สมเด็จลุน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากประเทศลาว เป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับถ่ายทอดด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคม

เล่าเรียนอยู่ที่เวินชัย นครจำปาสัก ประมาณ ๕ ปี สมเด็จลุนก็มรณภาพ ท่านจึงออกธุดงค์ เพื่อหาประสบการณ์

กระทั่งอายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบท โดยมี หลวงปู่สีทัต เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากนั้น ออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร จนได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และอยู่ศึกษาวิชา พร้อมกับช่วยสร้างวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร จนแล้วเสร็จ

ท่านมีโอกาสพบกับหลวงปู่สีทัต และพระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง ที่ จ.สกลนคร ได้ช่วยพระอุปัชฌาย์สร้างพระธาตุเจดีย์ แล้วออกติดตามธุงค์ไปจนถึงแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และทิเบต

ก่อนจะวกกลับมาทางเชียงรุ้ง ประเทศพม่า ผ่านเขตเทือกเขาบรรทัด จ.ระนอง เข้า จ.สตูล

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านธุดงค์ไปฝั่งแม่น้ำโขง บังเอิญพบบริเวณถ้ำสวนหินผานางคอย บ้านดงนา อ.ศรีเมืองใหม่ เห็นเป็นสถานที่ที่สงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงเข้าพำนักและตั้งเป็นสำนักวิปัสสนาขึ้น

จากป่ารกร้างที่ไม่มีอะไร พัฒนาจนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ ทั้งกุฏิสงฆ์, ศาลาอเนกประสงค์, ห้องครัว, อุโบสถ, อาคารต้อนรับพระอาคันตุกะ, หอระฆัง, บันไดขึ้นเขา, ห้องน้ำ, ศาลามณฑปจัตุรมุข ฯลฯ

พร้อมกับชื่อเสียงที่เริ่มขจรขจายในฐานะพระผู้มากด้วยเมตตา

ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศลาวถึง ๔๕ ปี พบประสบการณ์ชีวิต และได้วิชาจากพระเกจิอาจารย์ดังๆ มากมาย โดยเฉพาะศิษย์สายพระอาจารย์มั่น แม่ทัพใหญ่สายวิปัสสนากัมมัฏฐาน อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง ฯลฯ

และเคยแลกเปลี่ยนวิชากัมมัฏฐานกับหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ และครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขตร์ จ.ตาก ทั้งนี้ หลวงพ่อคูณ เรียกท่านว่า “อาจารย์ใหญ่”

ด้วยบารมีธรรม และการปฏิบัติ จึงดึงดูดนักแสวงบุญผู้ศรัทธาทั่วประเทศหลั่งไหลขึ้นไปกราบนมัสการเนืองแน่นตลอดมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเข้านมัสการถึง ๒ ครั้ง

ในส่วนของวัตถุมงคลที่เป็นต้นตำรับ และสร้างชื่อเสียงให้อย่างมาก เป็นรูป "พระฤๅษี" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อว่าน เนื่องจากท่านมีความรอบรู้เรื่องยาสมุนไพรเป็นพิเศษ

ท่านเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มีทั้งที่สร้างเอง และคณะศิษย์จัดสร้างถวาย ส่วนใหญ่แล้วจะสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสภาพสังคมท้องถิ่น เช่น การคมนาคม การศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น

ช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคหัวใจ ต้องเข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง

กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค. ๒๕๔๕ ท่านมรณภาพอย่างสงบด้วยโรคหัวใจ สิริอายุ ๑๐๕ ปี

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

TOP