บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
พระบูชาพระพุทธชินสีห์และเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม ฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ในงานบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ระหว่างวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ได้บันทึกไว้ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงครองวัด หน้า ๑๐๙ ความว่า …
“วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน เวลา ๑๕.๓๐ น. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุประทานพระสงฆ์ ๒๙ รูป สดับปกรณ์บังสุกุล เสร็จแล้วพระสงฆ์ ๘๕ รูป ซึ่งจะเจริญพระพุทธมนต์เข้ารับไตรออกไปครอง แล้วขึ้นนั่งประจำที่บนอาสน์สงฆ์พร้อมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดบวรนิเวศวิหาร เวลา ๑๖.๓๐ น. เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงนมัสการพระพุทธชินสีห์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีถวายเช่นเดียวกัน พระสงฆ์ ๘๕ รูปเจริญพระพุทธมนต์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ถวาย “พระพุทธชินสีห์จำลอง” แบบพระบูชาและแบบพระกริ่ง (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทรงเททองหล่อเมื่อทรงผนวช) และ “พระพุทธชินสีห์ใบมะขาม” (ทำขึ้นสำหรับงานนี้ กว้าง ๑ เซนติเมตร) กับหนังสือที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี”
กล่าวได้ว่า ในพิธีฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จากบันทึกในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
แสดงให้เห็นว่ามี “วัตถุมงคล” ที่สร้างเป็นที่ระลึกในวาระพิเศษอันเป็นมหามงคลวโรกาสนั้น ประกอบด้วย
- ๑. พระบูชาพระพุทธ ชินสีห์ ขนาดหน้าตัก ๔ นิ้วครึ่ง
- ๒. พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือพระกริ่ง ๗ รอบ
- ๓. เหรียญพระพุทธชินสีห์ ใบมะขาม และ
- ๔. ครอบน้ำพระพุทธมนต์
ในที่นี้จะกล่าวถึงพระบูชาพระพุทธชินสีห์ และพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม (สำหรับพระกริ่ง ๗ รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร)
ส่วนของ “ครอบน้ำพระพุทธมนต์” จัดสร้างเป็นจำนวนน้อยมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมีไม่เกิน ๘๕ ใบ สำหรับครอบน้ำพระพุทธมนต์นี้เท่าที่พบเห็นมี ๒ แบบ คือ
แบบที่เป็นฉัตร ๓ ชั้น สร้างขึ้นในงานบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๙
แบบที่เป็นฉัตร ๕ ชั้น ที่สร้างขึ้นในพระราชพิธีสถาปนาพระสมณศักดิ์ และพระฐานันดรศักดิ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๙๙ มีการลงยาสีสวยงามมาก
และมีข้อที่น่าสังเกตคือ วันที่ที่ระบุไว้กับครอบน้ำพระพุทธมนต์ทั้งที่เป็นแบบฉัตร ๓ ชั้น และแบบที่เป็นฉัตร ๕ ชั้น กลับระบุวันที่ไว้คือ “๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๙” ซึ่งช่างผู้จัดสร้างคงจะจัดทำเตรียมไว้โดยระบุวันที่เป็นวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ และต่อมาภายหลังได้มีการฉลองในพิธีสถาปนาพระสมณศักดิ์และพระฐานันดรศักดิ์ จึงได้สลักแต่เฉพาะฉัตรเพิ่มเพียงอย่างเดียว
สำหรับ “พระพุทธรูปบูชาพระพุทธชินสีห์” เนื่องจากสร้างจำนวนน้อย สันนิษฐานว่าน่าจะมีไม่เกิน ๘๕ องค์ คือ พระพุทธรูปที่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อเป็นปฐมฤกษ์พร้อมกับพระกริ่ง ๗ รอบ
พระบูชาพระพุทธชินสีห์ ๗ รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระพุทธรูปจำลองพระพุทธชินสีห์ ขนาดหน้าตัก ๔ นิ้วครึ่ง ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ใต้ฐานพระบูชาพระพุทธชินสีห์ ๗ รอบ เนื้อพระค่อนข้างหนา หล่อด้วยดินไทย รูปแบบการหล่อแบบเดียวกับพระบูชาไพรีพินาศ พ.ศ. ๒๔๙๖ คือ มีลวดขนาดใหญ่ (บางองค์เป็นตะปู) เสียบอยู่ในหุ่นด้านใน เป็นการหล่อด้วยดินไทย
พระบูชาพระพุทธชินสีห์องค์นี้ เดิมมีผิวรมดำทั้งองค์ แต่เนื่องจากเวลาผ่านไปยาวนาน ปัจจุบันกว่า ๕๐ ปีแล้ว จึงทำให้หลุดลอกออกไปบ้าง ทำให้เห็นเนื้อในเป็นแบบเดียวกับพระกริ่ง ๗ รอบ เพราะใช้ทองเบ้าเดียวกัน จำนวนสร้างว่ากันว่าไม่น่าจะเกิน ๘๕ องค์ ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นวัตถุมงคลอันทรงคุณค่าที่หาได้ยากยิ่ง
ส่วนเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม เป็นเหรียญขนาดเล็ก มีขนาด ๑ เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปคล้ายจอบ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง (เหรียญกรรมการ)
ด้านหน้าเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม ยกขอบนูน ตรงกลางเป็นรูปพระพุทธชินสีห์ปางมารวิชัย ประทับนั่งบนอาสนะบัวสองชั้น
ด้านหลังเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม ไม่มีขอบเหรียญ มีตัวอักษร ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นอักขระ อ่านว่า “อิ สวา สุ” ชั้นที่สอง เขียนคำว่า “พระชินสีห์” ชั้นที่สาม เขียนตัวเลข “๒๔๙๙”
ทั้งนี้ เหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม จัดสร้างอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เรียกขานว่า “เหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม รุ่น ๒ พ.ศ. ๒๕๑๖” แต่ด้านหลังเหรียญยังระบุปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งเหรียญรุ่น ๒ มีลักษณะคล้ายกับเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขามรุ่นแรกเกือบทุกประการ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีนักสะสมนิยมพระเครื่องหลายคนเข้าใจผิดว่าเหรียญพระพุทธชินสีห์รุ่น ๒ พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นเหรียญปี พ.ศ. ๒๔๙๙
ในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่อง ถือว่าพระบูชาพระพุทธชินสีห์ และเหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม ค่อนข้างหายาก ส่งให้พระบูชาพระพุทธชินสีห์และเหรียญพระ พุทธชินสีห์ใบมะขาม จึงกลายเป็นวัตถุมงคลอันทรงคุณค่าเป็นสุดยอดปรารถนาของบรรดานักสะสม