บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
พระพุทธรูป ภ.ป.ร. และพระกริ่ง ภ.ป.ร. วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๘
หนังสือ “จาตุรงค มงคล” วัดบวรนิเวศวิหาร โดยเสด็จพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลสมัยพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ ตั้งแต่หน้า ๒๐๓-๒๐๔ และหน้า ๑๐๖-๒๐๗ มีใจความว่า …
“วันศุกร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๒๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงประเคนผ้าไตรแก่สมเด็จพระราชาคณะพร้อมพระสงฆ์ที่มาในพิธีพุทธาภิเษกทั้งหมดแล้ว เฉพาะสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ๑๐ รูป ที่เจริญพระพุทธมนต์ ออกไปครองผ้าแล้วกลับมานั่งยังอาสนะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สมเด็จพระราชาคณะ ประธานคณะสงฆ์ถวายศีลจบ พระราชครูวามเทพมุนี ถวายน้ำเทพมนต์แล้วพระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์และลงคาถาในแผ่นโลหะที่จะผสมหล่อพระพุทธรูปจบแล้วได้เวลาพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทองทรงตั้งสติสัตยาธิษฐาน แล้วถวายเทียนทองนั้นแด่สมเด็จพระราชาคณะ ผู้เป็นประธานสงฆ์จุดเทียนชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรบัณเฑาะว์ และดุริยางค์ พระสงฆ์เจริญคาถา …”
วันเสาร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จฯ พระภาวนาจารย์และพระเกจิอาจารย์หมุนเวียนกันนั่งปลุกเสกโลหะที่จะใช้หล่อพระตลอดทั้งคืน เช่นเดียวกันกับวันแรก
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังปะรำพิธีมณฑล หน้าตึกมนุษนาควิทยาทาน ในบริเวณโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงจุดเทียนชัยสักการบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปยังเบ้าหล่อพระทรงหย่อนทองสำหรับหล่อ “พระพุทธรูป ภ.ป.ร.” จนครบ ๓๒ เตา ขณะนั้นพระสงฆ์ในวิหารและพระคณาจารย์ที่นั่งอยู่รอบพิธีมณฑลทั้ง ๘ ทิศ เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์แตรดุริยางค์ พระราชครูวามเทพมุนีรดน้ำสังข์เบ้าที่หล่อพระทุกเบ้าแล้ว จากนั้นเสด็จฯ ไปประกอบพิธียัง พระเจดีย์หลังพระอุโบสถพระพุทธชินสีห์
ที่กล่าวมาแล้ว เป็นความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ปี ๒๕๐๘ และพระกริ่ง ภ.ป.ร. วัดบวรนิเวศวิหาร ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ วัตถุมงคลอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
พระบูชา ภ.ป.ร. ๒๕๐๘ หน้าตัก ๙ นิ้ว ไม่รมดำ
เนื่องจากการจัดสร้างครั้งนี้ เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยหลังจากที่พระองค์ทรงนำพระพุทธรูป ภ.ป.ร. วัดเทวสังฆาราม ที่จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ไปพระราชทานแก่หน่วยทหาร ตำรวจ และหน่วยงานราชการอื่นๆ อีกหลายแห่ง ทำให้ประชาชนทั่วไปต่างมีความต้องการได้ไว้ บูชาเป็นจำนวนมาก พระองค์ได้มีพระราชดำริว่าน่าจะมีการสร้างขึ้นมาอีก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสนองความต้องการของผู้ศรัทธา
พระกริ่ง ภ.ป.ร. ๒๕๐๘ วัดบวรนิเวศวิหาร
ดังนั้น มีการตั้งคณะกรรมการจัดสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขึ้นอีกครั้งอย่างเป็นทางการ โดยจัดเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ โดยพระพุทธรูปที่จัดสร้างครั้งนี้ คณะกรรมการต้องการให้จัดสร้างตามแบบพระพุทธรูป ภ.ป.ร. รุ่นพระกฐินต้น วัดเทวสังฆาราม
แต่เมื่อคณะกรรมการได้นำพระพุทธรูปที่ออกแบบ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบให้ถูกต้องเหมาะสมกับพระพุทธลักษณะยิ่งขึ้น ด้วยพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์ มีการแก้ไขพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
พระกริ่ง ภ.ป.ร. สร้างครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๘
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานภาษิตสำหรับจารึกไว้ที่บานด้านหน้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาติว่า “ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ” แปลว่า “คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี”
ส่วนที่ฐานด้านหลังจารึกว่า “เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘” โดยมอบให้ ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นขึ้นใหม่ โดยอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยโดยตลอด
พระพุทธรูป ภ.ป.ร. มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว และ ๕ นิ้ว
พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาด ๙ นิ้ว เนื้อพระมีความหนาและปรากฏตะปูยึดพิมพ์ฝังอยู่ในเนื้อ ส่วนภายในองค์พระปรากฏรอยดินไทยและทรายที่ขึ้นหุ่นพระ เป็นวัตถุมงคลบูชาที่ได้รับความนิยมบูชาด้วยราคาสูง ปัจจุบันหาได้ยาก
ส่วนพระ พุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาด ๕ นิ้ว สร้างด้วยกรรมวิธีแบบหล่อโบราณดินไทยเช่นเดียวกัน ชนวนที่ฐานด้านล่างทั้งซ้าย ขวา และด้านหลัง เป็นเนื้อปูนออกมา เป็นร่องรอยของชนวนสำหรับโลหะให้ไหลไปตามแม่พิมพ์องค์พระ ที่เรียกกันว่า “สามขา” และที่สำคัญมีตัวเลขอารบิกตอกอยู่ที่ผนังด้านใน ตรงหน้าองค์พระใต้ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. โดยตอกเลขในระดับหลักพัน และมีตัวเลข ๔ ตัว เป็นเลขลำดับองค์พระ
ทั้งนี้ การสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาด ๕ นิ้ว ในแต่ละครั้งขึ้นใหม่ มีจำนวนไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ องค์ และหลังสร้างเพิ่มเป็นครั้งที่ ๓ จะไม่มีการตอกลำดับครั้ง พร้อมลำดับองค์พระอีก
พระบูชา ภ.ป.ร. ปี ๒๕๐๘ หน้าตัก ๕ นิ้ว หนังไก่
ขณะเดียวกัน พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาดหนักตัก ๕ นิ้ว ที่สร้างเพิ่มตั้งแต่ครั้งที่ ๑-๓ ได้ถูกเรียกขานจากบรรดาเซียนพระว่า “รุ่นหนังไก่” เนื่องจากผิวพระด้านใน หลังจากล้างปูนออก มีลักษณะย่นคล้ายหนังไก่
พระกริ่ง ภ.ป.ร.
รุ่นนี้จัดสร้างด้วยวิธีการปั๊ม โดยนำชนวนจากการเททองหล่อพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ทั้งสองขนาด มาปั๊มเป็นองค์พระ จัดสร้างเป็น ๓ เนื้อ คือ
- ๑. เนื้อทองคำ จัดสร้างเพียง ๓๒ องค์
- ๒. เนื้อทองแดงรมดำ จัดสร้างประมาณ ๑๐,๐๐๐ องค์ และ
- ๓. เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด
พระบูชา ภ.ป.ร. (สภาปุ่ม)
พระกริ่ง ภ.ป.ร. รุ่นนี้ มีการสร้างขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกสร้างเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ ในคราวพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา และงานสมโภชพระเจดีย์ทอง
ครั้งที่สอง สร้างเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ในพิธีพุทธาภิเษก มังคลาภิเษก วัตถุมงคลอนุสรณ์ ในงาน “วชิรวงศานุสรณ์” (อนุสรณ์ ๑๐๐ ปี พระชนมายุสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชอุปัธยาจารย์) ทั้งสองพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีทั้งสองครั้งเช่นกัน
การพิจารณา “พระกริ่ง ภ.ป.ร. พ.ศ. ๒๕๐๘” ที่สร้างขึ้น ครั้งแรกและครั้งที่สอง แตกต่างกันดังนี้
๑. ให้สังเกตที่ใต้ฐานองค์พระ หากเป็น “รุ่นแรก” ที่สร้างเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ จะมี “รอยตะไบที่หยาบมากถึงรอยตะไบแผ่วๆ” ส่วนรุ่นที่สร้าง “ครั้งที่สอง” เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ใต้ฐานจะเรียบ เพราะมีการปัดแต่ง ทำให้เห็นรอยอุดกริ่งชัดเจน
๒. น้ำยาที่ใช้ “รมดำ” องค์พระ “รุ่นแรก” จะออกสีน้ำตาลอมแดง ส่วน “รุ่นสอง” จะออกสีดำชัดเจน และบางองค์ออกสีน้ำเงินยวงหรือสีปีกแมงทับก็มี แสดงให้เห็นได้ชัดว่าเป็นการรมดำที่ยังสดใหม่อยู่นั่นเอง
จึงขอให้ทุกท่านนำหลักเกณฑ์นี้ไปพิจารณากันเองเพราะยังไม่มีผู้ใดเปิดเผยมาก่อน