บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ประเทศไทยเมื่อครั้งยังเป็นราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้ง กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ตราบมาจนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของชนชาติไทย การสร้างสรรค์ศิลปกรรมแขนงต่างๆ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น อันเป็นพระราชประสงค์โดยตรงจากองค์พระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่การสร้างศาสนสถานในรูปแบบต่างๆ เช่น พระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพุทธปฏิมาประธานในพระอาราม รวมไปจนถึงหอพระไตรปิฎก ลานแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนถึงวัตถุมงคลทั้งหลายที่บรรจุภายในกรุในพระเจดีย์หรือในพระปรางค์ เป็นต้น
นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สืบมายังกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีเป็นราชธานี หรือแม้แต่ราชอาณาจักรใกล้เคียง มีการสร้างพระพุทธรูป พระพิมพ์ และพุทธศาสนสถานตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คตินิยมการสร้างพระพุทธรูปของพระมหากษัตริย์ก็สืบทอดมาเป็นโบราณราชประเพณี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระชัยที่ทรงอัญเชิญขึ้นหลังช้างไปราชการศึกสงคราม เป็นมิ่งขวัญและกำลังพระทัย ในการทรงทำราชการสงครามป้องกันพระราชอาณาจักรและขยายขอบขัณฑสีมา พระองค์ทรงกำหนดให้เป็น “พระชัยประจำพระองค์”
นอกจากนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อ “พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๑” และ “พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร” และเป็นโบราณราชประเพณีสืบมา จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ที่จะต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีหล่อพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล พระชัยวัฒน์ประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
จึงอาจกล่าวได้ว่าการสร้างพระของพระมหากษัตริย์ในอดีต ส่วนใหญ่จะเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์ กระทำเป็นการภายใน และหากเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์
ในรัชกาลปัจจุบัน การสร้างพระขององค์พระมหากษัตริย์ นอกจากจะเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์ อันเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบมาช้านานแล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูป ตลอดจนพระเครื่องที่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วไปได้มีโอกาสอัญเชิญไปสักการบูชาเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ดังปรากฏในพิธีการหล่อพระกริ่งพุทธชินสีห์หรือพระกริ่ง ๗ รอบ ของวัดบวรนิเวศ เป็นต้น
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ และนับเป็นครั้งแรกของการสร้างพระของพระมหากษัตริย์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่เสด็จฯ ออกทรงผนวชในระหว่างทรงครองสิริราชสมบัติ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ส่วนพระมหากษัตริย์อีก ๖ พระองค์ เสด็จออกทรงผนวชก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ทั้งสิ้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตก่อน
สำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้เสด็จออกทรงผนวชในระหว่างทรงครองสิริราชสมบัติ เสด็จออกทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ประทับจำพรรษา ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎก และแปลเป็นภาษาโรมันพระราชทานไปยังนานาอารยประเทศ เมื่อเซอร์เอ๊ดวิน อาร์โนลด์ มีความศรัทธา แต่งหนังสือพุทธประวัติ ชื่อว่า “ประทีปแห่งทวีปอาเซีย” หรือ ‘Light of Asia’ ทรงมีพระราชหัตถเลขาอนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลกรรมของท่านเซอร์เอ๊ดวิน อาร์โนลด์ อันเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในยุโรป ทำให้ชาวยุโรป ได้รู้จักพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙
มูลเหตุแห่งการออกทรงผนวชครั้งนี้ ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ระบุว่า …
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชประสงค์จะได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเป็นเวลานาน และเมื่อได้ทรงคุ้นเคยกับหลักการและการปฏิบัติของพุทธศาสนิก ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่ทรงพระศรัทธายิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อต้นศก ๒๔๙๙ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนิยมนับถือด้วยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการส่วนพระองค์มามากได้ประชวรลง ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระอาการเป็นที่วิตกทั่วไปจนแทบไม่มีหวัง แต่ได้หายประชวรมาได้อย่างน่าประหลาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมฟังพระอาการหลายครั้ง และได้มีพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงผนวชด้วยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็น พระอุปัชฌายะแล้ว จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ ในอันที่จะได้ทรงแสดงพระราชคารวะและศรัทธาในพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างดี จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงผนวช”
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ และเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงวันทรงลาผนวช เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ รวม ๑๕ วัน”