บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัตถุมงคลฉลอง ๑๐๐ ปี วัดมกุฏกษัตริยาราม (ตอนที่ ๑)
พุทธศักราช ๒๕๑๑ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก มีอายุนับตั้งแต่การสถาปนาพระอาราม เวียนมาบรรจบครบ ๑๐๐ ปี วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๑๑ ประกอบกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายี) ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๐ พรรษา ในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๑
คณะกรรมการจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี และฉลองพระชนมายุครบ ๗๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราชฯ (จวน อุฏฐายี) ได้กำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ มกราคม ๒๕๑๑
นอกจากนี้ ในศุภวาระมงคลดังกล่าว ควรจัดสร้างวัตถุมงคลในรูปแบบพระพุทธรูปและพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ สำหรับเป็นที่ระลึก และเพื่อเป็นอนุสรณ์คณะศิษยานุศิษย์ ตลอดจนผู้เคารพนับถือทั่วไปมีไว้สักการบูชา
เหตุผลในการจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงมีพระนามเดิมเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทววงศ์ฯ” ออกทรงพระผนวช (ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ) ว่า “พระวชิรญาโณภิกขุ”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามส่วนหนึ่งว่า “วชิรญาณ” (กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและทรงเป็นสมเด็จพระราชอุปัธยาจารย์ ในรัชกาลปัจจุบัน และทรงเป็นพระราชปนัดดา(เหลน) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงมีพระนามส่วนหนึ่งซึ่งทรงกรมว่า “กรมหลวงวชิรญาณวงศ์”
อีกทั้ง พระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวงวัดมกุฏกษัตริยาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง โดยมีพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปมีความแบบพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถวายพระนามว่า “พระพุทธวชิรมงกุฎ”
อีกประการที่สำคัญ ในฐานะที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ (จวน อุฏฐายี) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงเป็น “สมเด็จพระบรมราชกรรมวาจาจารย์” ในพระราชพิธีทรงพระผนวช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีทรงพระผนวช พ.ศ. ๒๔๙๙
ด้วยเหตุดังกล่าว การจัดสร้างวัตถุมงคลในรูปแบบพระพุทธรูปและพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ควรถวายพระนามพระพุทธรูปที่จัดสร้างขึ้น เป็นอนุสรณ์ในมหามงคลวโรกาสครั้งนี้ ว่า “พระวชิรมงกุฏ” หรือ “พระพุทธวชิรมงกุฏ”
ส่วนพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ถวายพระนามว่า “พระกริ่งวชิรมงกุฏ” และ “พระชัยวัฒน์วชิรญาณ” เพื่อเป็นการบูชาพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เป็นพระราชกุศลและพระกุศลเป็นอนุสรณ์สืบไป
ด้วยเหตุที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เป็นพระอารามหลวงที่งดงามและทรงคุณค่าแห่งสมัย อีกทั้งวัดมกุฏกษัตริยาราม ยังมิเคยสร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่ระลึกทั้งในส่วนของพระอาราม
สำหรับมวลสารในการจัดสร้างวัตถุมงคลในครั้งนี้ โดยที่สมเด็จพระสังฆราช (จวน) ทรงเป็นองค์สกลมหาสังฆปริณายก พระเถรานุเถระ ทั้งสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะเจ้าอาวาส รวมทั้งพระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทั่วประเทศกว่า ๕๐๐ รูป ต่างยินดีทูลถวายโลหะวัตถุที่ปลุกเสกไว้แล้ว รวมทั้งแผ่นโลหะชนิดต่างๆ ที่มีการลงอักขระยันต์มาเป็นส่วนผสมอีกด้วย เพื่อให้วัตถุมงคลที่จัดสร้างเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่เป็นสิริมงคลทุกประการ
กล่าวสำหรับวัตถุมงคลที่จัดสร้าง “พระพุทธวชิรมงกุฏ” เป็นพระพุทธรูปที่จัดสร้างด้วยศิลปะไทยประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปะคุปตะของอินเดียจัดสร้าง ๒ ขนาด คือ หน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว พระพุทธลักษณะไรพระศกขมวด ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวหงาย มีชายผ้าทิพย์และฉัตร ๓ ชั้น มีลายพระหัตถ์ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) พระนาม “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อุฏฐายี)” อยู่ด้านหลัง จัดสร้างเป็น ๒ เนื้อ คือ เนื้อนวโลหะและเนื้อสำริด มีลำดับเลขประจำองค์พระตอกอยู่ที่ฐานด้านหลัง
ส่วนขนาดหน้าตักกว้าง ๗ นิ้ว พระพุทธลักษณะ ไรพระศกเป็นมวยมุ่น ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำ ที่ฐานด้านหน้ามีผ้าทิพย์และมงกุฎ มีพานแว่นฟ้ารองรับพระมหาพิชัยมงกุฎ และมีฉัตรเครื่องสูง ๕ ชั้น ขนาบ ๒ ข้าง (สัญลักษณ์ตราประจำวัด) มีลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสังฆราช (จวน) ว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อุฏฐายี)” อยู่ด้านหลัง จัดสร้าง ๒ เนื้อ คือ นวโลหะและเนื้อสำริด มีลำดับเลขหมายอยู่ด้านหลัง