บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๒๕๑๕ (ตอนที่ ๒)
ซึ่งการดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลนั้น คณะกรรมการ ประกอบด้วย “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม)” เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปาโมกข์” เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รองหัวหน้าคณะปฏิวัติในขณะนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
โดยได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงเททองหล่อพระนิรันตรายจำลอง (ขนาดบูชา) เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๕ จำนวน ๙๐๘ องค์ ตามจำนวนการสั่งจองของประชาชนโดยทั่วไป จากนั้นก็นำทองชนวนที่เหลือจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเททองหล่อพระนิรันตรายจำลองดังกล่าวไปจัดสร้าง “พระกริ่งนิรันตราย” ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก “พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา)” หรือ “พระกริ่งโสฬส มปร” ตลอดจน “เหรียญพระนิรันตราย” ทั้งสองแบบพิมพ์ จำแนกเป็นจำนวนการจัดสร้างดังนี้
๑. พระบูชาพระนิรันตรายจำลอง (เท่าองค์จริง) ๙๐๘ องค์
๒. พระกริ่งนิรันตราย เนื้อโลหะผสมพิมพ์ใหญ่ ๙๙๙ องค์ พิมพ์เล็ก ๙๙๙ องค์
๓. พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา) หรือ พระกริ่งโสฬส มปร ๕๐,๐๐๐ องค์
๔. เหรียญพระนิรันตราย พิมพ์ทรงพัดยศ (เหรียญเจริญยศ) จำนวน ๕๐,๐๐๐ เหรียญ และพิมพ์ทรงเสมา (เหรียญเจริญลาภ) จำนวน ๕๐,๐๐๐ เหรียญ
๕. พระชัยวัฒน์นิรันตราย แบบปั๊มไม่ทราบจำนวน
๖. เหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำลองรูปทรงประทับยืน จากพระบรมรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระจอมเกล้า (ปราสาททรงพระปรางค์) ภายในวัดราชประดิษฐฯ ๑๐๘ องค์
๗. ล็อกเก็ตพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะพระราชทานถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่ “พระธรรมปาโมกข์ (ทิม)” จำนวน ๑๐๘ องค์
หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๕ ผ่านไป วัตถุมงคลทั้งหมดได้จัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว
คณะกรรมการได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก และมังคลาภิเษก ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐฯ ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ รวม ๙ วัน ๙ คืน อันเป็นระยะเวลาที่ตรงกับช่วงครบรอบสถาปนาพระอารามแห่งนี้
คณะกรรมการได้นิมนต์พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ ทั่วพระราชอาณาจักรมาร่วมพิธี พุทธาภิเษกและมังคลาภิเษก คืนละ ๑๒ รูป รวม ๑๐๘ รูป เท่ากับอายุของวัดราชประดิษฐฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นับตั้งแต่การสถาปนา
โดยพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณที่มาร่วมพิธี ประกอบด้วย หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า, หลวงปู่ดู่ วัดสะแก, หลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อโชติ (ระลึกชาติ) วัดวชิราลงกรณ์, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล, หลวงปู่ เทสก์ วัดหินหมากเป้ง, หลวงปู่ศรีจันทร์ วัดเลยหลง, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์, หลวงพ่อกี้ วัดหูช้าง, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อหลิว วัดไร่แตงทอง, หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด เป็นต้น
วัตถุมงคลฉลอง “๑๐๘ ปี วัดราชประดิษฐฯ” ทั้งหมดจะมีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์และตราสัญลักษณ์ “อักษรพระปรมาภิไธย มปร” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
กล่าวในท้ายที่สุด วัตถุมงคลฉลอง ๑๐๘ ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พ.ศ. ๒๕๑๕ ประกอบไปด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และพระมหากษัตริยาธิคุณ ของพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๒ พระองค์ ทั้งล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช