บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
พระพุทธรูปฉลอง ๗๒ ปี โรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. ๒๕๐๕
ย้อนหลังกลับไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โรงพยาบาลศิริราช ได้จัดสร้างพระพุทธรูปฉลอง ๗๒ ปี โรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. ๒๕๐๕
เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่มีความงดงามบริสุทธิ์ เป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางประทานพร อันเป็นสิริมงคล มีความหมายว่า “พระพุทธรูปแห่งความสุขสบายใจ” และประทานพรให้แก่ผู้สักการบูชา
ความสำคัญของพระพุทธรูปฉลอง ๗๒ ปี โรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. ๒๕๐๕ ยังกล่าวได้ว่า เป็นต้นแบบพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ในปี ๒๕๐๖ กฐินต้น วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี และพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ปี ๒๕๐๘ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือในตระกูลพระพุทธรูปทั้งหลายที่เชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่ฐานผ้าทิพย์
สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โรงพยาบาลศิริราช ได้ดำเนินกิจการครบ ๗๒ ปี ด้วยโรงพยาบาลศิริราชแห่งนี้ ได้ก่อกำเนิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพลับพลาที่ประกอบพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชฯ มาปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลแล้วพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลศิริราช” หรือ “ศิริราชพยาบาล”
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ สมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงบุกเบิกและพัฒนาโรงพยาบาลศิริราช อันเป็นการวางรากฐานให้มีความเจริญก้าวหน้าจวบจนปัจจุบัน พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมญานามว่า “พระบิดาแห่งวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”
ด้วยเหตุดังกล่าว ในงานฉลอง “๗๒ ปี โรงพยาบาลศิริราช” ได้มีการสร้างมงคลวัตถุเป็นที่ระลึก คือ “พระพุทธรูปบูชาปางประทานพร” และพระรูปเหมือน “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) เป็นอนุสรณ์
โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง และมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เคารพนับถือและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นอเนกอนันต์ ที่ทรงมีต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และต่อประชาชนชาวไทยทั่วไป ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ได้มีโอกาสนำไปสักการบูชา
ในการนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดสร้าง ประกอบด้วยที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ ๕ รูป คือ พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวัฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันคือ เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก), พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินตากโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (สมเด็จพระพุทธปานพจนบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ) พระเทพญาณกวี วัดบวรนิเวศวิหาร, พระราชมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร และ “พระภัทรสีลาจารย์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”
ส่วนคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ประธานกรรมการ นายแพทย์ขุนวิวรรณวิสุทธิ์ นายแพทย์สวัสดิ์ สืบแสน นายแพทย์สงัด กาญจนกุญชร นายแพทย์โรจน์ สุวรรณสุทธิ์ และนายแพทย์คำรณ เพ็ชรพลาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
วัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้สมทบทุนงานฉลอง ๗๒ ปี และเพื่อใช้ในกิจการแพทย์ช่วยเหลือ “ผู้ป่วยอนาถา” และ “พัฒนาวิชาการของศิริราชพยาบาล”
ในส่วนของศิลปินผู้ออกแบบปั้น คือ นายฟุ้ง อั้นเจริญ นายช่างฝีมือดีแห่งสำนักบ้านช่างหล่อ ได้ออกแบบปั้นและถวายให้พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินตากโร) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างพระพุทธรูป เป็นผู้ดูแลและควบคุมงานด้านศิลปกรรมและประติมากรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นแกะแบบพิมพ์สำเร็จ
นอกจากนี้ ในวาระเดียวกัน คณะกรรมการยังได้จัดสร้างพระรูป “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” คณะกรรมการได้มอบให้ช่างปั้นคนเดียวกับที่ปั้นพระรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐาน ณ โรงพยาบาลศิริราชเป็น ผู้ออกแบบปั้น (ไม่ทราบชื่อ) ประกอบกับในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เสด็จฯ กลับจากต่างประเทศ คณะกรรมการจัดสร้างจึงนำแบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตร ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณประทานข้อติชมเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขหลายประการ
จากนั้นยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเททองหล่อ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๐๕ เวลา ๑๕.๕๗ น. ณ มณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถวัดรังสีสุทธาวาส โดยมีพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณนั่งปรกปลุกเสกจำนวนหลายรูป
นับว่าการสร้างพระพุทธรูปฉลอง ๗๒ ปีศิริราช ครั้งนั้น เป็นงานใหญ่ของชาวศิริราชโดยแท้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปและพระรูปทุกองค์ในมณฑลพิธีเททอง ถือเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่ผู้ที่มีวาสนาได้ไว้บูชา มีคุณค่าและเพียบพร้อมด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และพระมหากษัตริยาธิคุณ ทุกประการ
ทำให้สาธุชนในยุคนั้นที่ทราบความสำคัญ ได้เช่าบูชาจนหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว สมดังเจตนารมณ์ของคณะกรรมการจัดสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น
ปัจจุบัน พระพุทธรูปฉลอง ๗๒ ปี โรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระรูปเหมือนสมเด็จพระบรมราชชนก ฉลอง ๗๒ ปีศิริราช เป็นวัตถุมงคลที่พบหาได้ยากมาก เนื่องจากผู้ที่มีบูชาไว้ในครอบครองน้อย
ด้วยความหายากและเป็นที่ต้องการของบรรดาเซียนพระและนักสะสมนิยมพระเครื่อง ทำให้ผู้ที่มีไว้ในครอบครองหวงแหน และมักเก็บไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลภายในครอบครัวเท่านั้น