บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัตถุมงคลอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ตอนที่ ๒
๕. “เหรียญพระรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)”
จัดสร้างเป็น ๒ แบบด้วยกัน คือ ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๔ ซ.ม. และขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ซ.ม. โดยอาจารย์สนั่น ศิลากร เป็นผู้ออกแบบ มอบให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้ผลิต สำหรับเหรียญทั้งสองขนาดนี้มีเนื้อทองคำ ขนาดละ ๑,๐๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน ขนาดละ ๒,๕๑๔ เหรียญ และเนื้อทองแดง ขนาดละ ๘๔,๐๐๐ เหรียญ
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้ดำเนินการจัดสร้าง “เหรียญชุดกรรมการ” ด้วยเนื้อทองคำ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔.๑ ซ.ม.เพียงขนาดเดียว สำหรับนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง๗ ซ.ม. และขนาด ๔.๑ ซ.ม. สร้างด้วยเนื้อทองแดง สำหรับมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณในการช่วยเหลือทั้งกำลังทรัพย์และกำลังกาย โดยด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปเหมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต หันหน้าเฉียงครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์สมเด็จฯ โต
สำหรับการจัดสร้างปูชนียวัตถุ “อนุสรณ์ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พรหมรังสี) ในครั้งนี้ คณะกรรมการจัดสร้างได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองเป็นปฐมมหามงคลราชาฤกษ์” เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ ตามกำหนดฤกษ์ เวลา ๑๕.๓๕-๑๖.๑๒ น.
ในการนี้ คณะกรรมการจัดสร้างได้ขอพระราชทานนาม “พระพุทธรูปพระประธานจำลอง” แต่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเป็นพระบรมราชวินิจฉัยว่า “พระประธานมีพระนามอย่างไรก็ควรใช้พระนามพระประธาน เป็นพระนามพระพุทธรูปพระประธานจำลองด้วย ถ้าพระประธานไม่มีพระนามก็ไม่จำเป็นต้องตั้งใหม่ เพราะเป็นเพียงองค์จำลอง”
ส่วนพิธีทรงเททองหล่อปูชนียวัตถุ วันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๑๕.๒๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย และเสด็จประทับพระราชอาสน์ พระราชาคณะถวายศีลแล้ว ประธานคณะอำนวยการกราบบังคมทูลถวายรายงานและทูลฯ เชิญเสด็จฯ ทรงเททองหล่อพระพุทธปฏิมา และรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เวลา ๑๕.๓๕ น. อันเป็นมงคลฤกษ์ ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมาและรูปพระสมเด็จฯ พระพุฒจารย์ (โต) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังเกยที่ทรงเททอง
พล.ร.ท.จรูญ เฉลิมเตียรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นโลหะลงอักขระจากอาจารย์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นายประสิทธิ สงวนน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีขณะนั้น เชิญไปผสมในเบ้าทองหล่อพระพุทธรูป และรูปเหมือนพระสมเด็จฯ พระพุฒาจารย์ (โต) ทุกเบ้า เสร็จแล้ว ประธานกรรมการทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทอง นาก เงิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงหย่อนลงในช้อนแล้วเทลงในเบ้า
พล.ร.ท.อุดม สุทัศน์ ณ อยุธยา ประธานกรรมการดำเนินงานทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทอง นาก เงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงหย่อนลงในช้อนแล้วเทลงเบ้า ซึ่งตลอดเวลาที่ช่างเททอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงถือสายสูตร เททอง พระสงฆ์ ๑๐ รูปเจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
ส่วนรายนามพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณที่ร่วมนั่งปรกในพิธีเททองครั้งนี้ประกอบด้วย “สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น)” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภายหลังได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ภายหลังได้รับพระราชทาน สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๘ กรุงรัตนโกสินทร์, พระธรรมวโรดม (ทรัพย์) วัดสังเวชวิศยาราม ภายหลังได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระวันรัต, พระสาสนโสภณ (เจริญ) วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
พิธีกรรมการจัดสร้างวัตถุมงคลอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม จึงถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญแห่งการสร้างวัตถุมงคลครั้งยิ่งใหญ่