บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัตถุมงคลที่เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีต่างๆ เป็นปฐมฤกษ์
๑๐. เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ วัดถลุงทอง พ.ศ. ๒๕๒๑
จัดสร้างถวายโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนพ่อท่านคลิ้ง ครึ่งองค์เห็นหน้าเฉียง ด้านหลังมีตราสัญลักษณ์ ภ.ป.ร. ประดิษฐานเป็นสิริมงคลอันสูงสุด เพื่อหาทุนสร้างถนนเป็นทางเข้าวัดถลุงทอง ซึ่งก่อนที่จะสร้างเหรียญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมนมัสการพ่อท่านคลิ้ง และพ่อท่านคลิ้งได้ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ที่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
ขอบคุณภาพจาก “แมวจ้ะ”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เชิญตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่ด้านหลังเหรียญ มีเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองผสม ปัจจุบันได้รับความนิยมมาก เพราะมากด้วยประสบการณ์ และมีตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เป็นสิริมงคลอันสูงสุด
๑๑. พระกริ่งมหาราช พ.ศ. ๒๕๒๑ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
จัดสร้างโดย หลวงพ่อมิ วัดพระเชตุพนฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามว่า “มหาราช” ต่อท้ายพระปรมาภิไธยย่อ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ) เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระวันรัต” ทรงเป็นประธาน พร้อมกับพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทั่วประเทศ ๑๐๘ รูป เช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา พัทลุง, พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว ปัตตานี, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ สุพรรณบุรี, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี, หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง สมุทรสาคร, หลวงพ่อมุม วัดนาสัก ชุมพร ฯลฯ มีเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดงรมดำ
ขอบคุณภาพจาก www.goldcoin456.com
๑๒. เหรียญพระรูปเหมือน สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมธนารักษ์ จัดสร้างถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ในโอกาสทรงเจริญพระชันษาครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี มีเนื้อทองคำและเนื้อทองแดง
ขอบคุณภาพจาก “ร้านอุดมมงคล พระเครื่อง”
๑๓. เหรียญหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๑
เพื่อหาทุนทรัพย์สร้างอาคารสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราช จ.เชียงใหม่ มีเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง
ขอบคุณภาพจาก “เจริญเจริญ”
๑๔. เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก หลัง ภ.ป.ร. พ.ศ. ๒๕๒๓
จัดสร้างโดยคณะศิษย์ นำโดยเจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง
ขอบคุณภาพจาก “คุณพรดาราภิรมย์”
ขอบคุณภาพจาก “ศรัณยู พันเดช”
๑๕. พระผงพุทธนวราชบพิตร พระสมเด็จจิตรลดา รุ่นโครงการหลวง
ซึ่งทางกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง เพื่อมอบแก่ผู้บริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิโครงการหลวง และร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี หรือพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยได้รับพระราชทานผงจิตรลดา เส้นพระเจ้า และมวลสารมงคลวัตถุอื่นๆ เป็นส่วนผสมหลัก นอกจากพระผงแล้วก็ยังมีเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อนวโลหะ รวมถึงพระพุทธรูปบูชา พระพุทธนวราชบพิตรจำลอง รวมถึงพระกริ่งอีกจำนวนหนึ่งด้วย ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธี
ขอบคุณภาพจาก “พิบูลย์ลาภ”
๑๖. พระผงพระพุทธนราวันตบพิตร
ทางกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างขึ้น ในมหามงคลโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ โดยจำลองแบบจากพระพุทธนราวันตบพิตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นมา เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ปางห้ามสมุทร อันเป็นปางประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพถวายเพื่อประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่เสด็จออกทรงพระผนวชและประทับบำเพ็ญพระสมณวัตรพระสมณธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ณ มณฑลพิธี หน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร และประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธี
๑๗. เหรียญพระบรมรูปประทับนั่งเต็มพระองค์ พ.ศ. ๒๕๔๒
ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทำบุญบูชาองค์ละ ๙ บาท สำหรับเนื้ออัลปาก้า ได้ประกอบพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงประกอบพิธีชัยมังคลาภิเษก ด้านหลังเหรียญได้รับพระบรมราชานุญาต ให้เชิญตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ประดิษฐาน
ขอบคุณภาพจาก “ร้านโคตรรวยทองคำ ๒”
๑๘. เหรียญพระบรมรูปครึ่งพระองค์ สร้างจากโรงงานเหรียญกษาปณ์ชื่อดังแห่งโลก “โมเนต์ เดอ ปารีส์”
ซึ่ง นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างเพื่อตอบแทนผู้บริจาคเงินสมทบทุนสร้าง “พระมหาธาตุเจดีย์ธรรมประกาศ” ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยจัดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ในคราวนี้ได้มีการจัดสร้าง พระกริ่งกาญจนาภิเษก พระชัยวัฒน์กาญจนาภิเษก และพระปรกใบมะขามกาญจนาภิเษก
๑๙. เหรียญพระบรมรูปที่จัดสร้างขึ้นในงาน ๕ ธันวามหาราช
ซึ่งสร้างขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างขึ้น เพื่อตอบแทนผู้บริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช
๒๐. พระเครื่องและเหรียญพระพุทธรูปที่สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมาประธาน ทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ ทรงตัดลูกนิมิต ทรงวางศิลาฤกษ์ เป็นต้น
ตราบจนถึงทุกวันนี้ กระแสความต้องการของวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่มีวันเสื่อมคลาย พสกนิกรชาวไทย ต่างพากันเสาะแสวงหาวัตถุมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคล