จตุคามรามเทพ หมายถึง เทพรักษาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 องค์ คือ “ท้าวขัตตุคาม” และ “ท้าวรามเทพ” ซึ่งเดิมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพชั้นสูง และมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่เมื่อภูมิภาคแถบอุษาคเนย์นี้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาเข้ามา ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ จึงถูกเปลี่ยนสถานะเป็นเทวดารักษาพระบรมธาตุ และเปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคล เป็น “ท้าวจตุคาม” และสถิตอยู่บนที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ
ในปี พ.ศ. 2530 มีเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดนครศรีธรรมราชมากมาย จึงมีการทำพิธีผูกดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ จึงมีการอัญเชิญจตุคามรามเทพไปสถิต ณ ที่นั้นเป็นต้นมา และมีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่
โดยในการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่ ได้มีการจัดทำวัตถุมงคลจตุคามรามเทพขึ้นมาเพื่อหาเงินในการก่อสร้าง โดยบุคคลสำคัญที่ร่วมทำพิธีก่อสร้างและนำจุตคามรามเทพมาจัดทำเป็นวัตถุมงคลมี 3 คน ด้วยกันคือ
- พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
- พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล และ
- โกผ่อง หรือ อะผ่อง สกุลอมร
ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีรูปพระบรมธาตุอยู่ตรงกลาง
ความหมายและความเชื่อ
ชาวนครศรีธรรมราช มีคติความเชื่อที่ว่า องค์จตุคาม คือ พระเสื้อเมือง จตุ หมายถึง สี่ คาม (คาม-มะ) เขตคาม หมายถึง อาณาเขตหรือบ้าน เมื่อรวมกัน นัยความหมายที่มากกว่าความเป็นทิศทั้ง 4 ของบ้าน หรืออาณาเขต คือทิศทั้งสี่ ซึ่งหมายถึงทิศที่มีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ดูแลอยู่ ความหมายของจตุคามจึงเป็น ตำแหน่งของผู้เป็นใหญ่ทั้งสี่ทิศ มีท้าวจตุมหาราช ปกป้องคุ้มครองดูแล พระเสื้อเมืองจึงมีความหมายที่ควรเป็นตำแหน่งๆ หนึ่ง เพียงแต่ปราชญ์โบราณของเมืองสมมติขึ้นเป็นท้าวจตุคาม ผู้เป็นใหญ่ใน 4 ทิศ
องค์รามเทพ คำว่า ราม มีรากฐานมาจากพระราม ที่หมายถึงพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ คำว่าเทพ ก็คือเทวดา นัยความหมายคือเป็นพระมหากษัตริย์ ที่เป็นสมมติเทพเมื่อองค์รามเทพเป็นพระทรงเมือง คำว่าทรงเมืองพ้องกับคำว่า ครองเมือง นั่งเมือง หรือผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งก็คือเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์
เชื่อกันว่าเดิมนั้น องค์จตุคามรามเทพ เป็นกษัตริย์ในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช มีพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เชื่อว่ามีพระวรกายเป็นสีเข้ม เป็นกษัตริย์นักรบที่แกร่งกล้า เมื่อสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัยได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้สมัญญานามว่า “ราชันดำแห่งทะเลใต้” หรือมีอีกราชสมัญญานามนึงว่า “พญาพังพกาฬ” และต่อมาสำเร็จวิชาจตุคามศาสตร์ และทรงบำเพ็ญบุญเพื่อสร้างบารมีอธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษย์ทั้งปวง แต่หากเชื่อกันว่า จตุคามรามเทพ คืออดีตกษัตริย์ศรีวิชัยแล้ว ดังเช่นพระเจ้าวิษณุราชที่ปรากฏในหลักจารึกกรุงศรีวิชัย อยู่ในราว พ.ศ. 1318 ผู้สร้างพระบรมธาตุเมืองนครฯ จะดูขัดแย้งกัน เพราะเป็นยุคสมัยที่ห่างจากพระเจ้าจันทรภาณุ ก่อนถึง 400 ปี
พระบรมธาตุปรากฏชัดว่า มีสององค์ คือ องค์จตุคามกับท้าวรามเทพ แต่ภายหลังได้รวมเป็นองค์จตุคามรามเทพเพียงองค์เดียว ก็มิได้ผิดจากหลักศาสตร์ของการสร้าง เฉกเช่นการอธิบายในหลักของตรีมูรติ ของศาสนาฮินดู ที่เป็นการรวมกันของมหาเทพทั้ง 3 พระองค์ ดังนั้น จตุคามรามเทพ จึงหมายถึง ดวงพระวิญญาณแห่งอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าผู้มาสถิตย์เป็นผู้คุ้มครองดูแลบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ ทรงฤทธิ์อำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยบารมีธรรม 10 ประการ แห่งพระโพธิสัตว์ ผู้มีความเมตตาต่อมนุษย์ผู้ทุกนาม เป็นพระเทวราชโพธิสัตว์
จตุคามรามเทพ มีบริวารเป็นทหารกล้า 4 นาย คือ พญาชิงชัย, พญาหลวงเมือง, พญาสุขุม และพญาโหรา เป็นกำลังหลักในการปราบพราหมณ์ ที่เคยปกครองเมืองอยู่ก่อน เมื่อได้บ้านเมืองแล้ว ก็ได้สร้างพระบรมธาตุ สถาปนาเมือง 12 นักษัตร หรือกรุงศรีธรรมาโศกราช ฝังรากฐานพระพุทธศาสนาอย่างถาวร จนได้รับเทิดพระเกียรติว่า พญาศรีธรรมาโศกราช หรือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
ปัจจุบัน จตุคามรามเทพ ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่าทรงฤทธานุภาพในทุกๆ ด้าน ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า “มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก”
การขออธิษฐานจากพระองค์นั้นทำได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ
- อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม
- เมื่อได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับพระองค์
- ควรจะสร้างกุศลกรรมถวายแด่องค์จตุคามรามเทพ
แต่ที่สำคัญ อย่าลำพังเพียงอธิษฐาน ต้องสร้างกุศลกรรมให้แก่ตนเองให้ครบทุกด้านด้วย คือ ให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา
ภาพลักษณ์ของจตุคามรามเทพ โดยมากจะปรากฏเป็นองค์เทพบุตรในท่านั่ง มี 4 กร ถืออาวุธต่างๆ และนายทหาร 4 นาย นั้น จะปรากฏในรูปของหนุมาน 4 กร ถืออาวุธในท่วงท่าต่างๆ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามศิลปะศรีวิชัย ที่มักสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาแทนความหมายต่างๆ
ประวัติ
ในการจัดสร้างรูปเคารพขององค์จตุคามรามเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นครั้งแรกในรูปแบบพระผงสุริยัน-จันทรา ดวงตราพญาราหู แวดล้อมด้วยพระราหู 8 ตน ตรงกลางมีรูปของเทวรูปประทับนั่ง 2 เศียร 4 กร ทรงเครื่องอาวุธ และผู้สร้างในสมัยนั้นก็ให้ความหมายไว้ว่า คือรูปจำลองสมมติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นตัวแทนขององค์จตุคามรามเทพ กษัตริย์แห่งกรุงศรีวิชัย
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 ทางโหราศาสตร์เกิดสุริยคราส พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งเกิดกระแสตื่นตัวไปทั่วประเทศในเรื่องของพระราหูกินเมือง ประชาชนต่างก็หาวัตถุมงคลหาเครื่องรางของขลัง มาแขวนติดตัวเพื่อแก้เคล็ดและสะเดาะเคราะห์ ประกอบกับนิตยสารพระเครื่องกรุงสยาม ได้ลงประวัติการสร้าง ทำให้มีคนรู้จักบ้าง จึงได้มีการเช่าหากันไปในบางส่วน
ในต้นปี พ.ศ. 2550 จตุคามรามเทพได้รับความนิยมอย่างยิ่ง จนกลายเป็นกระแสในสังคมไทย จากข่าวการพระราชทานเพลิงศพของขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตนายตำรวจมือปราบ ผู้ร่วมการจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรกขึ้นโดยมี พล.ต.ท. สรรเพชร ธรรมาธิกุล เป็นประธานในการจัดสร้าง ได้มีการสร้าง วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ขึ้นในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีหลายรุ่น พระเกจิหลายองค์ปลุกเสก หลายคนพากันแย่งชิงจนเกิดเป็นเหตุให้ฆาตกรรมกันก็มี และผลจากกระแสนี้ส่งผลให้ วัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรก ที่ผลิตออกมาในปี พ.ศ. 2530 มีราคาพุ่งไปถึงกว่า 40 ล้านบาท จากเดิมที่มีราคาเพียง 49 บาท เท่านั้น
ปัจจุบัน จตุคามรามเทพได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่าทรงฤทธานุภาพในทุกๆ ด้าน ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า “มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก” โดยผู้บูชาส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกันอันตรายจากภัยอันตรายต่างๆ และยังให้โชคลาภ ร่ำรวย หากบูชาได้อย่างถูกวิธี
คาถาสำหรับบูชาจตุคามรามเทพ
ตั้งสมาธิให้จิตใจสงบ จากนั้นท่อง (นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ) 3 จบ
แล้วให้กล่าวตามบทสวดดังต่อไปนี้
“จะตุคามรามะเทวัง โพธิสัตตัง มะหาคุณัง มะหิทธิกัง อะหัง ปูเชมิ สิทธิลาโภ นิรันตะรัง นะโมพุทธายะ”
ซึ่งแปลความได้ว่า “ข้าพเจ้าขอบูชาท้าวจตุคามรามเทพโพธิสัตว์ ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ มีฤทธานุภาพไพศาล ขอความสำเร็จและลาภ จงมีแก่ข้าพเจ้า เป็นนิรันดร”
อ้างอิง : วิกิพีเดีย, positioningmag.com