บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ผู้เขียน: พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์
พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” บนพระเครื่อง (1)
วัตถุมงคล ไม่ว่าจะเป็น พระบูชา พระเครื่อง หรือ เหรียญ ถ้ามีการประดิษฐานอักษร “พระปรมาภิไธย” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลใดๆ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ก็ล้วนทรงคุณค่าเป็นที่นิยมอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย … พระปรมาภิไธย คืออะไร? และพระปรมาภิไธยย่อ คืออะไร?
“พระปรมาภิไธย” เป็นการรวมคำของ พระ+ปรม+อภิไธย แปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง คำว่า “พระปรมาภิไธย” หมายถึง พระนามของพระมหากษัตริย์ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ล้วนยาวๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” เป็นต้น
ดังนั้น การเอ่ยอ้าง “พระปรมาภิไธย” จึงมักกล่าวแต่เพียงคำนำหน้าที่เรียกกันว่า “พระราชฐานันดรนาม” ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทร หรือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร แล้วต่อด้วยพระปรมาภิไธยประโยคต้นประโยคเดียว จากนั้นทำเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ไว้ แล้วต่อด้วยสร้อยพระปรมาภิไธยประโยคท้าย เช่น รัชกาลที่ ๙ อาจออกขานพระปรมาภิไธยเพียงว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” เป็นต้น
ส่วนการลงพระปรมาภิไธยในเอกสารทางราชการนั้น พระมหากษัตริย์ทรงลงพระนามเฉพาะพระปรมาภิไธยประโยคแรก และต่อด้วยคำว่า “ปร” เท่านั้น เช่น รัชกาลที่ ๕ ทรงลงพระนามว่า “จุฬาลงกรณ ปร” และ รัชกาลที่ ๙ ทรงลงพระนามว่า “ภูมิพลอดุลยเดช ปร” เป็นต้น
สำหรับ “พระปรมาภิไธยย่อ” คือ การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง ๓ ตัวอักษร โดยส่วนมากมักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์, ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี หรือ งานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่างๆ อาทิ
รัชกาลที่ ๑ พระนามย่อ จปร พระนามเต็ม มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช
รัชกาลที่ ๒ พระนามย่อ อปร พระนามเต็ม มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช
รัชกาลที่ ๕ พระนามย่อ จปร มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช
รัชกาลที่ ๖ พระนามย่อ วปร มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช
รัชกาลที่ ๙ พระนามย่อ ภปร มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช
ซึ่งจะสังเกตว่า “พระปรมาภิไธยย่อ” จะมีซ้ำกันบ้างเป็นบางรัชกาล ดังนั้น เพื่อให้ทราบว่าเป็นรัชกาลใด เมื่อประดิษฐ์เป็นตรา ผู้ประดิษฐ์ตราจะเขียนหมายเลขประจำรัชกาลไว้ ระหว่างพระจอนของพระมหาพิชัยมงกุฎ หรือถ้าเขียนเป็นข้อความอาจมีเลขประจำรัชกาลต่อท้ายเมื่อจำเป็น
ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระปรมาภิไธยย่อว่า “ภปร” โดย “ภ” ย่อมาจากพระปรมาภิไธยประโยคแรก คือ มหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วน “ปร” หมายถึง ปรมราชาธิราช
พระปรมาภิไธยเต็มที่จารึกในพระสุพรรณบัฏก็ดี พระปรมาภิไธยย่อจากพระสุพรรณบัฏก็ดี หรือพระปรมาภิไธยย่ออักษรพระปรมาภิไธย ๓ ตัวก็ดี ล้วนเป็นพระนามที่พรรณนาถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ ซึ่งประพันธ์ถวายด้วยบทร้อยแก้วอันไพเราะเพราะพริ้งและเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ตัวอย่างที่ทราบกันดี เช่น ชื่อของกรุงเทพฯ ที่ขึ้นต้นด้วย “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ” ก็ว่ายาวแล้ว แต่พระนามของพระมหากษัตริย์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏมีความยาวกว่า
พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญต่างๆ นอกเหนือจาก การจำลององค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปเหมือนพระเกจิผู้ทรงคุณและพุทธาคมสูงส่ง ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชน กอปรกับพิธีกรรมอันเข้มขลังแล้ว เมื่อได้มีการเชิญพระปรมาภิไธยย่อมาประดิษฐานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลัง ถือว่ามีพระบารมียิ่งใหญ่ เป็นสิ่งมงคลอันล้ำค่าน่าเก็บสะสมบูชาอย่างยิ่งครับผม