บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: เพจมุมพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
เหรียญปั๊มรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๘๑ พระวชิรสารโสภณ (จุล อิสฺสรญาโณ)
วัดหงษ์ทอง ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
มีหลายคนเข้าใจผิดว่าเหรียญปั๊มรูปเหมือนพระวชิรสารโสภณ (จุล อิสฺสรญาโณ) หรือ ‘หลวงพ่อจุล’ แห่งวัดหงษ์ทอง ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานถวายของขวัญพระครูวิกรมวชิรสาร พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นเหรียญรุ่นแรกของท่าน
ความจริงยังมีเหรียญปั๊มรูปเหมือนและเหรียญปั๊มรูปพระพุทธที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งเป็น ‘เหรียญรุ่นแรก’ ของท่าน เข้าใจว่าเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกที่ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ ‘พระครูวิกรมวชิรสาร’
โดยทั้งสองเหรียญไม่ปรากฏระบุชื่อวัดและปีสร้าง เฉพาะเหรียญปั๊มรูปเหมือนซึ่งเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา มีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจุลนั่งสมาธิเต็มรูป ด้านล่างมีอักษรไทยจารึกว่า ‘พระครูวิกรมวชิรสาร’ ส่วนด้านหลังเป็นยันต์สี่ซ้อน บรรจุอักขระขอมคือ ‘นะ มะ พะ ทะ’ ตรงกลางเป็นจุดกลม มีอุณาโลมหัวท้าย
ปูมหลัง หลวงพ่อจุลกล่าวว่า เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่บ้านสลกบาตร ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรของนายเนตร ส่วนมารดานั้นไม่ทราบชื่อ
ในวัยเด็กได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถม จากนั้นได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุได้ ๒๑ ปี ได้ไปเป็นศิษย์วัดอยู่ที่จังหวัดตาก ๒ ปี จากนั้นจึงได้กลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ วัดหงษ์ทอง มีพระครูติธรรมสมาทาน (เลื่อน) วัดอุดมศรัทธาราม ตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
หลังอุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาที่วัดสิงคาราม ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย หากยังคงไปมาระหว่างวัดหงษ์ทองและวัดสิงคาราม จำพรรษาที่วัดสิงคารามได้ ๓ พรรษา ก็ได้ไปศึกษาวิชาต่อที่วัดบ้านแก่ง ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นศิษย์พระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ (ทองอยู่) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิชาคาถาอาคมขลัง อีกทั้งมีความรู้ดีในด้านพระปริยัตธรรม ซึ่งแต่ละปีจะมีพระภิกษุทั้งจากเมืองกำแพงเพชรและเมืองนครสวรรค์มาฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย
กล่าวกันว่า หลวงพ่อทองอยู่ วัดบ้านแก่ง ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ แต่ก็มีผู้บอกว่าท่านเป็นสหายทางธรรมกัน
ต่อมาวัดหงษ์ทองได้ว่างตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ทางมรรคทายกวัดพร้อมชาวบ้านสลกบาตรได้ร่วมกันสรรหาพระภิกษุผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นหลวงพ่อจุล ที่ขณะนั้นยังจำพรรษาที่วัดบ้านแก่งอยู่ จึงได้ไปนิมนต์หลวงพ่อจุลมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหงษ์ทอง
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระใบฎีกาฐานานุกรมของพระวิบูลย์วชิรธรรม (สว่าง อุตฺตโร) วัดคฤหบดีสงฆ์ (ท่าพุทรา) ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรีในขณะนั้น ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ ‘พระสมุห์’ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ ‘พระครูวิกรมวชิรสาร’ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับพระราชทานเื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ ‘พระวชิรสารโสภณ’
กล่าวในด้านหน้าที่สงฆ์ของหลวงพ่อจุลนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหงษ์ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสลกบาตร ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการจังหวัด และเป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรม
หลวงพ่อจุลมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ สิริอายุได้ ๗๔ ปี พรรษาที่ ๕๑