บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ผู้เขียน : รท สันติ ศรีงาม | เผยแพร่เมื่อ 7 มกราคม 2564
ที่มา : Facebook Group พี เสาวภา : หลวงพ่อทรง วัดมอญ ( ศาลาดิน )
วันนี้ขอผมพูดถึงเรื่องพระนักธรรม เพราะมีคนสนใจมาก แต่จะว่าจริงๆ ผมไม่แปลกใจมากนักเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าใคร ที่เป็นพ่อ แม่ ต่างห่วงลูกหลานทั้งนั้น ปริมาณพระนักธรรมก็ทำออกมาพอสมควร มีสรรพคุณตามที่ร่ำลือกัน หลวงพ่อก็ชอบแจกเด็ก เห็นกันอยู่ในเว็บบ้าง บ่อยเหมือนกัน บางเว็บนำมาปล่อย หรือขายต่อทีละหลายองค์ มีราคาพอสมควร คนก็แย่งกันซื้อ แป๊บเดียวเกลี้ยง อันนี้ผมไม่ทราบใครนำมา แต่ของเขาแท้แน่นอน
พระนักธรรมรุ่นสองนี้ จัดเป็นกลุ่มแม่พิมพ์เหล็ก กลุ่มที่สองที่ผมทำไปถวายหลวงพ่อวัดมอญ เนื่องจากหลังจากทำพิมพ์แรกคือพิมพ์รูปเหมือนแล้ว หลวงพ่อพูดถึงแม่พิมพ์นักธรรมรุ่นแรกที่ได้ทำลาย แล้วเขานำแม่พิมพ์ที่ทำลายแล้วมามอบให้หลวงพ่อ หลวงพ่อเองยังบ่นๆ เพราะดูเจตนาว่า ท่านยังต้องการทำและแจกพระนักธรรมเพื่อโปรดคนอยู่
ผมเลยไปสั่งทำแม่พิมพ์เหล็กมาอีกสองพิมพ์ คือ พิมพ์แหวกม่าน และพิมพ์พระนักธรรม พร้อมทั้งคันโยกอีกหนึ่งคัน โดยใช้พระหลวงพ่อกวยเป็นต้นแบบ ดัดแปลงให้ขนาดเหมาะสม ใส่เคล็ดที่อาจารย์อนันต์ อดีต ผอ. ช่างสิบหมู่แนะนำมา โดยผมไม่ได้ไปลอกแบบนักสร้างพระขายคนไหนมา แต่ดัดแปลงมาจากพระแหวกม่านหลวงพ่อกวย เพราะมีความสวยงาม เมื่อเอามาให้หลวงพ่อดูแล้ว ท่านชอบใจ ผมจึงไปสั่งช่างเดิมแถวเสาชิงช้าให้ทำมาอีก จำได้ว่าเป็นปี 2548 ประมาณนั้น
มวลสารหลักที่เป็นหัวใจของพระผงที่พิมพ์ที่วัด หลวงพ่อจะเตรียมการเอง ไม่มีใครทราบว่าท่านใส่อะไรลงไปบ้างผมก็ไม่เคยถาม แต่ท่านจะให้ลูกศิษย์บดดอกไม้ หรือว่านที่คนนำมาถวาย ผมเคยเห็นคนนำว่านสบู่เลือด เป็นหัวๆ หลายสิบหัว หิ้วมาเหมือนหิ้วหัวมันแกว ที่ชาวบ้านแถววัดหิ้วมาถวายหลวงพ่อ หัวว่านนี้นำมาฝานตากแดด บดทำพระผง นอกนั้นยังมีผงว่าน หรือสิ่งมงคลต่างๆ ที่ลูกศิษย์นำมาถวาย เช่น ผงชันเพชรจากพระมหาบุษบกพระแก้วมรกต ผงว่านห้าร้อยชนิดหลวงปู่พรหมมา ผงจากวัดพระแก้ว นอกนั้นคงมีผงที่ลูกศิษย์กลุ่มอื่นนำมาถวายหลวงพ่อที่ผมไม่ทราบ ท่านเองก็ไม่ได้บอกไว้ แล้วยังมีผงส่วนตัวของพระสวัดดิ์ ซึ่งมีผงแปลกๆ ส่วนตัวของท่านนำมาใส่อีก ผงดินก้นน้ำบ่อ ผงจากจีวรหลวงพ่อ เส้นเกศา ผงว่านต่างๆ ที่พระสวัดดิ์ท่านมี แร่บางไผ่ และอีกหลายอย่างที่ผมไม่ทราบชื่อเพราะไม่ได้จำ ผงแปลกๆ เหล่านี้ บางทีเอาไปใส่ในครกหรือโม่ไฟฟ้าเองโดยพระสวัดดิ์ หลวงพ่อก็คงไม่ทราบเรื่อง ท่านคงเสกอย่างเดียว
แต่ยืนยันว่าผงที่เป็นหัวใจ เตรียมโดยหลวงพ่อ เช่น ดอกไม้ หรือผงที่บด ท่านจะตากให้แห้ง บดละเอียด แล้วใส่ถาดเอาถาดปิดไว้ เตรียมไว้ผสมพระ ผงเหล่านี้ท่านคงเสกให้ตามวิธีการของท่านแล้ว เพราะพระแบบหลวงพ่อไม่ต้องตั้งท่า หรือมีพิธีกรรมมากมาย เอาว่าจิตดี จิตถึง ก็ใช้ได้
นอกนั้นท่านยังเตรียมปูนหอยเอง เอามาแช่น้ำค้างคืนค้างวันไว้ เพื่อให้ปูนจืด พอเวลาว่างท่านก็มาเทน้ำออก แล้วใส่น้ำใหม่ ให้ปูนหายเค็ม อันนี้ท่านทำของท่านเอง ผมเห็นหลายครั้ง ซึ่งดูออกว่าหลวงพ่อชอบสร้างพระ เพราะท่านจะพูดคุยสูตรการผสมพระอยู่ตลอดเวลา ตอนเริ่มพิมพ์พระช่วงแรกๆ จนกระทั่งส่วนผสมคงที่ ท่านมีการผสมด้วยสูตรต่างๆ เช่น สูตรบางขุนพรหม หรือสูตรวัดโน้นทำแบบนั้น ส่วนช่างนี้ทำแบบนี้ จะเห็นได้ว่าท่านสนุกกับ “งาน” พอสมควร
นอกจากนั้นยังมีผงอื่นๆ ที่เป็นตัวประสาน ที่พวกลูกหลานซื้อไปถวาย เช่น ผงปูนเพชร (อันนี้แพงมาก) เอาไว้ผสมให้พระแกร่งตัว นอกจากนั้นก็เป็นน้ำมันตั้งอิ้ว หรือกาววิทยาศาสตร์ หัวน้ำหอมเก้ากลิ่น กล้วยน้ำว้า กระดาษสา มีตำผสมลงไปบ้าง แต่หลักๆ จริงคงเป็นปูนหอยและเศษดอกไม้นี่แหละครับ เอากล้องส่องดู จะเห็นมวลสารตามที่ว่ากระจายอยู่ทั่วไป
พระเมื่อพิมพ์แล้วถูกนำมาใส่ถาด ผึ่งลมให้แห้ง ไม่ได้ตากแดดเพราะพระจะงอ เมื่อแห้งดีแล้ว เอาใส่กล่องกระดาษไว้ในหอสวดมนต์ (ยืนยันว่าไม่ใช่ห้องนอนท่านอย่างที่เขาว่า) หลวงพ่อท่านจะมาเสกของท่านเอง หรือมีคนนำพระมาเสกเยอะๆ ท่านจะให้เอาไปเสกไว้ในหอสวดมนต์ แล้วเสกรวมกันไป ฉนั้นไม่มีใครทราบว่าพระองค์ไหน กล่องไหน หลวงพ่อเสกให้กี่ครั้ง แต่เอาเป็นว่าพระเนื้อผงนี้หลวงพ่อเสกแน่นอน สายสิญจน์ที่วงไว้ บางทีท่านวงของท่านเอง ของจะผ่านมือท่านแน่ ถ้ามีพิมพ์ทรงตามนี้ เป็นของแท้แน่นอน เพราะแม่พิมพ์ทำลายแล้วหลังจากท่านมรณภาพ การเสกในหอสวดมนต์ ท่านจะมีพิธีกรรมนิดหน่อย คือจุดธูปเทียน แล้วท่านนั่งบริกรรมนานพอสมควร
เมื่อเสกเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้ในหอสวดมนต์แบบนั้น เมื่อจะแจกท่านก็ให้พระไปหยิบมา หรือเอาใส่ถุงติดตัวเวลามีนิมนต์ ใครมาขอท่านก็หยิบแจกให้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า พระผงนี้เป็นของแจกส่วนใหญ่ ไม่ได้มีเจตนาทำเอามาขาย มีเจตนาทำเพื่อให้แจก ใครจะทำบุญหรือไม่ ท่านก็ไม่สนใจ หรือบางทีเป็นพระแถมให้ เมื่อมีคนบูชาพระในตู้ไป
จะมีอยู่ช่วงที่ผมจำได้ พอพระนักธรรมรุ่นหนึ่งของศูนย์ ที่จำหน่ายที่วัดหมดไป ทางวัดนำพิมพ์รุ่นสองนี้ออกมาวางจำหน่ายในตู้ เพราะยังมีคนถามหาอยู่เรื่อยๆ ผมจำได้ บางท่านเดินขึ้นบันไดวัดมา ยังไม่ถึงข้างบนเลย ก็ถามหาพระนักธรรมแล้วว่ามีหรือปล่าว อันนี้ได้ยินกับหู แสดงถึงสรรพคุณของพระนักธรรมเป็นอย่างดี ทำให้คนถามหาตั้งแต่ยุคที่หลวงพ่อยังทรงสังขารอยู่
ผมมานั่งพิจารณาดู เมื่อยังไม่มีใครปลอมมา เพราะยังไม่เคยเห็นของปลอม ผมก็ยังไม่ชี้จุด จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกไป แต่จะเอาตัวอย่างมาให้พวกท่านดู แล้วท่านวิเคราะห์พิจารณาตามไปตามวิจารณญาณของพวกท่านก็แล้วกัน
พระนักธรรมพิมพ์หนา ครกแรกๆ
ในยุคแรกๆ ช่วงแรกๆ แม่พิมพ์กับแท่นปั๊มติดกันมา พอมาพิมพ์พระกัน พระจะหนา ถ้าท่านไปเจอพระหนาๆ บอกได้ว่าโชคดี เพราะมีน้อยและเป็นพระยุคแรกๆ หลวงพ่อบางทีและหลายครั้ง ท่านนั่งดูอยู่ด้วย บางทีพิมพ์เอง องค์ที่ท่านพิมพ์เองจะไม่สวย เพราะแรงคนแก่ หรือบางทีเราไปนิมนต์หลวงพ่อมาพิมพ์ เปิดพิมพ์ให้ หรือบางทีท่านนั่งตักผงนั่น ผงนี่ หยอดน้ำมนต์ลงไปตามที่ท่านเห็นสมควร เรียกว่า คอย QC ขบวนการทำพระผงที่วัดศาลาดินเอง
พระยุคแรกนี้เนื่องจากยังไม่ความชำนาญเรื่องการผสมเนื้อ เนื้อจะร่วน ออกสีน้ำตาล บางทีมีตระกรุด หรือเม็ดข้าวสารฝัง หรือเส้นเกศา เนื่องจากเนื้อร่วนพระพิมพ์จะไม่สวย จะติดไม่ชัด บางทีทั้งหน้าและหลัง ไม่ชัดเจน เนื้อจะแตกร่วน
ในยุคแรกๆ นั้น พระมีหลายเนื้อ หลายครก เพราะลองกันหลายอย่าง หลายกลุ่ม ขนาดว่าลูกศิษย์หลวงพ่อบางกลุ่ม มาลองพิมพ์พระจากเนื้อโอวัลติน ก็มี ผมยังเก็บไว้ แต่ลืมไปแล้วว่าองค์ไหนครับ แต่เป็นพิมพ์รูปเหมือนนะครับ พิมพ์จากผงยานัตถ์ก็มี ผงปูนขาวก็มี จัดว่าหลากหลาย จะมีเนื้อแปลกๆ เยอะครับ
พระนักธรรมนี้ มีขนาดประมาณ 2 x 1.4 ซม. หนาประมาณ 8 มิล จัดว่าหนามาก (ตามรูป) ที่ต้องบอกขนาดประมาณไว้ เพราะผงหดตัวไม่เท่ากัน ไปเจอหดๆ ผิดรูป เดี๋ยวจะนึกว่าเก๊น่ะครับ เนื้อจะไม่ขาว เพราะไม่ได้หนักปูน ออกสีไปทางน้ำตาล แก่ผงซะเยอะ ใช้น้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน ถึง พ.ศ. นี้ กลิ่นน้ำมันยังหึ่งอยู่เลยครับ
พระนักธรรมพิมพ์บาง พิมพ์มาตรฐาน
เมื่อพิมพ์ไปเรื่อยๆ มีความชำนาญขึ้น แล้วหลวงพ่อทักด้วยว่าพระหนา เลยปรับแหวนความหนาที่เครื่องพิมพ์ ทำให้พระบางขึ้น ใส่ปูนหอยมากขึ้น เป็นผงหลัก ทำให้พระติดคมชัด บางองค์เห็นหน้าตาได้ชัดเจน ครกหลังๆ แบบนี้ บางทีครกหนึ่งได้พระร่วมๆ สี่-ห้าร้อยองค์ วันหนึ่งทำหลายครก ดูระยะเวลาที่เป็นปีแล้ว ถึงจะพิมพ์อื่นสลับกันไป แต่พระนักธรรมพิมพ์วัดนี้ ต้องเป็นหมื่นๆ องค์ขึ้นไปนะครับ เพราะทำหลายสิบครกแน่นอน
มีขนาดประมาณ 2 X 1.4 ซม. หนาประมาณ 5 มิล ขนาดกำลังดี ขนาดนี้น่าจะเป็นขนาดความหนามาตรฐาน และทำออกมาเยอะมากกว่าพิมพ์หนา ไม่เปลืองผงเท่าพิมพ์หนา พิมพ์ก็ง่ายกว่า พระจะติดสวยชัดเจน