บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : thaipublica.org | เผยแพร่เมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๖๑
ผู้เขียน : ไตรรงค์ บุตรากาศ
ก่อนอื่น ผมขอออกตัวว่า ผมเขียนถึงเรื่องนี้ด้วยความเคารพ ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายอะไรแต่อย่างใด ตัวผมเองก็มีความเคารพในพุทธศาสนา และก็มีพระเครื่องของอาจารย์ที่เคารพเลื่อมใสเก็บไว้บ้างพอสมควร แต่ไม่ได้เป็นเซียนอะไรนะครับ (กรุณาอย่าตั้งผมนะครับ) ผมเสนอแค่มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ และความเข้าใจทางธุรกิจอีกวงการหนึ่งครับ
หนึ่งในธุรกิจลึกลับในเชิงของความรู้ความเข้าใจของเมืองไทย คือ วงการพระเครื่อง
ธุรกิจเช่า ให้เช่า (พระเครื่องไม่เรียกซื้อขายนะครับ มีแต่เช่ากับให้เช่า) ในหลายปีที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ปัจจุบันมีเพจแลกเปลี่ยนความรู้และซื้อขายพระเครื่องใน Facebook แยกตามพระสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่ทิม, หลวงปู่ทวด, หลวงพ่อสาคร, หลวงปู่หมุน หรือแบบไม่แยกสาย เช่น พระเบญจภาคี, พระกรุ และอื่นๆ รวมๆ กันแล้วน่าจะมีอยู่หลายร้อยเพจ มีสมาชิกหลักหมื่นขึ้นไปก็น่าจะหลักร้อยเพจขึ้นไป
เพจที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ มีสมาชิกที่เลื่อมใสศรัทธาและมีใจเดียวกันถึง 164,462 ราย จำนวนสมาชิกขนาดนี้ บางเพจเจ้าของสินค้าที่ทำโปรโมตเพจเกือบทุกวันยังทำได้ไม่ถึง
วันหนึ่งๆ เพจเหล่านี้มีกิจกรรมทั้งการโพสต์ข่าวสาร แนะนำการดู โชว์พระ ให้เช่าเปิดราคา ประมูล และอื่นๆ ไม่ต่ำว่า 100-200 ครั้ง เรียกกว่าบางเพจขึ้นกันแทบทุก 10 นาที
เพจเหล่านี้มีการซื้อขายกันทุกวัน จากการประมาณการของตัวผมเองที่เข้าไปร่วมด้วยเช่นกัน วันหนึ่ง ยอดซื้อขายในแต่ละเพจน่าจะเป็นหลักหลายแสนบาทต่อวัน และมีการซื้อขายเกือบทุกวัน รวมๆ กันๆ แล้ว เอาเฉพาะที่มีการซื้อขายคึกคัก ไม่เกินร้อยเพจ ปีๆ หนึ่ง มูลค่าการซื้อขายออนไลน์ นับเฉพาะที่ซื้อขายบน Facebook ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี หากรวมการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ปกติ ซึ่งก็ยังแอคทีฟอยู่ ไม่น่าจะต่ำกว่าอีกเท่าตัว
และหากรวมการซื้อขายออฟไลน์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยมียานแม่ที่พันธ์ทิพย์งามวงศ์วาน รวมๆ แล้ว ตลาดเช่า ให้เช่าพระเครื่อง น่าจะมีมูลค่ากว่า 7,000-8,000 ล้านบาทขึ้นไป อันนี้ผมไม่รวมธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น การรับรองพระ การประกวดพระ หนังสือพระ ธุรกิจรับจองพระ ธุรกิจเลี่ยมพระ และพระเช่าจากที่วัดโดยตรงอีก มูลค่าน่าจะกว่าหมื่นล้านบาทขึ้นไปพอสมควร อันนี้นับในช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีแบบในตอนนี้นะครับ (ตลาดแชมพูเมืองไทยมีมูลค่ากว่า 17,000 ลบ)
ไม่เพียงแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ใน Facebook เหล่านี้ บางทีก็มีคนต่างชาติ โดยเฉพาะละแวกใกล้เคียง คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเริ่มมีจีนเข้ามาเป็นลูกค้าหน้าใหม่ เข้ามาเช่าหาหรือให้เช่าเช่นเดียวกัน ไม่รวมที่มาซื้อหาตามวัดต่างๆ อีกต่างหาก
ตลาดที่มีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาทนี้ ทำไมจึงเป็นตลาดที่ค่อนข้างลึกลับ และจะมีการพัฒนาขึ้นไปอย่างไร
ติดตามต่อ ตอนที่ 2 : พระเครื่องที่ซื้อขายกันสูงสุด ราคาแพงกว่าเฟอร์รารี