บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : thaipublica.org | เผยแพร่เมื่อ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑
ผู้เขียน : ไตรรงค์ บุตรากาศ
ก่อนอื่น ผมขอออกตัวว่า ผมเขียนถึงเรื่องนี้ด้วยความเคารพ ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายอะไรแต่อย่างใด ตัวผมเองก็มีความเคารพในพุทธศาสนา และก็มีพระเครื่องของอาจารย์ที่เคารพเลื่อมใสเก็บไว้บ้างพอสมควร แต่ไม่ได้เป็นเซียนอะไรนะครับ (กรุณาอย่าตั้งผมนะครับ) ผมเสนอแค่มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ และความเข้าใจทางธุรกิจอีกวงการหนึ่งครับ
ราคาเช่าหาพระเครื่อง เป็นเรื่องความพอใจทั้งสิ้น พอใจคนขาย พอใจคนซื้อ ไม่มีดัชนี ไม่มีมาตราฐาน จะขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ ปีหน้า ไม่มีแนวเทียบ บางองค์เช่าได้เท่านั้น พอเลยไปอีกคนเช่าเท่านี้ เพียงเพราะว่าคนต่อไปมีกำลังซื้อมากกว่า อยากได้พระองค์เปิดตัว มองว่าสวยกว่า หรือมองว่าแท้ดูง่ายกว่า เป็นต้น
แล้วสำหรับคนที่เริ่มต้น จะมีหลักการ วิธีการอะไร ที่ใช้เริ่มต้นไม่ได้ทีเดียวเลยหรือ คำตอบคือ มีครับ แต่ต้องพอรู้ทางพระเครื่องนิดหนึ่ง ใจเย็นนิดหนึ่ง ทำการบ้านอีกหน่อย แล้วเริ่มจากก้าวเล็กๆ แล้วจึงไปก้าวใหญ่ๆ ครับ พอสรุปเป็นปัจจัย ราคาเช่าหาพระเครื่องดังนี้
หนึ่ง : ราคาพระเครื่อง แต่ละสายไม่เหมือนกันเลย แม้จะปีตรงกัน เก่าเหมือนกัน อาจารย์คนเดียวกัน แต่ราคานั้นไม่เท่ากันเลย ขึ้นอยู่กับความนิยมของเกจิหรือพระสายนั้นทั้งสิ้น เอามาเทียบกันไม่ได้ ถ้าจะเริ่ม ให้เริ่มพระจากที่เป็นที่นิยมก่อน อย่าไปดักสายที่เป็นเฉพาะทางจริงๆ คือนิยมเฉพาะกลุ่ม ยกเว้นรักนับถือเป็นการส่วนตัว เดี๋ยวนี้ด้วยความนิยมทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ social media สามารถเช็คได้ว่าเป็นที่นิยมหรือไม่ โดยแค่ดูสมาชิกที่ติดตามในแต่ละเพจ ก็พอใช้เป็นมาตราฐานได้
สอง : เริ่มจากสายใดสายหนึ่งก่อน อย่าเข้าไปทั้งหมด เพราะการลงทุนในพระเครื่องต้องการความเข้าใจด้วย ฟังเซียน (ที่มีชื่อจริงๆ และน่าเชื่อถือจริงๆ เป็นสากล) เป็นทางออกทางหนึ่ง แต่ไม่เข้าใจเลย เราก็เป็นหมูง่ายๆ เริ่มจากหนึ่งสาย ศึกษา ซื้อหนังสือมาตราฐานสักเล่มหนึ่งมาศึกษา และดีที่สุดคือ ดูจากของจริง และสัมผัสจริง ประกอบภาพในเน็ตด้วย เดินในพันธุ์ทิพย์ก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง แม้จะไม่ได้เห็นตัวจริงทุกประเภท ก็ดีกว่าเซียนรูปภาพ ไม่เคยเห็นของจริงเลย ต้องศึกษาก่อนสะสมครับ
สาม : เริ่มสะสมจากรุ่น หรือองค์ที่เป็นที่นิยมไม่มากก่อน ในสายนั้น เพราะราคาไม่แพงมาก ถ้าพลาดก็เจ็บตัวไม่มาก ถือว่าซื้อบทเรียน พอชำนาญค่อยเริ่มไปของใหญ่ การเช่าหา ถ้าจะเช่าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็ได้ แต่ขอให้เป็นเพจที่มีมาตราฐาน มีสมาชิกยิ่งมากยิ่งดี มี admin เข้มแข็ง ใครปลอม ไม่ตรงกติกา เอาออกหมด และมีการรับประกันแท้คืนเต็ม ไม่มีเงื่อนไข จะรู้ได้อย่างไรว่า เพจไหนดี ก็คือไปขอเข้าเป็นสมาชิก แล้วก็ดูกิจกรรมไปเรื่อยๆ ก่อน ดูสักสองสามเพจ จะเริ่มเข้าใจเองว่าที่ผมเล่าเป็นอย่างไร ชอบรักองค์ไหน ก็สอบถามราคาบ้าง ก็จะได้ราคาที่เป็นแนวทางได้เอง ตรงนี้ก็จะเริ่มเห็นแนวราคาตลาดนิดหนึ่งละ ดูขึ้นลง ดูราคาองค์สวยไม่สวยได้บ้างครับ
สี่ : ปัจจัยราคาพระที่ขึ้นกับตัวพระเครื่อง ได้แก่ ความสวยหรือไม่สวยของพระเครื่องรุ่นนั้นๆ บล็อกนิยมหรือไม่นิยม (บล็อกพิมพ์พระเครื่องรุ่นหนึ่งมีหลายบล็อก บางบล็อกมีตำหนิพิเศษจำง่าย เป็นเอกลักษณ์ก็มักได้ความนิยมเป็นพิเศษ) ปีลึกไม่ลึก อันนี้แปลว่า สร้างมานานมาก ยิ่งมากก็ยิ่งแพงขึ้น แต่ไม่ทั้งหมด เพราะบางครั้งก็ไม่เกี่ยว พระเครื่ององค์นั้นเคยประกวดได้รางวัลอะไรมาบ้าง หรือได้รับการรับรองพระแท้จากสถาบันที่น่าเชื่อถือมาแล้ว ก็เป็นการประกันความแท้อีกแบบหนึ่ง บางรุ่นมีการตอกเลข ยิ่งเลขสวยยิ่งแพง และสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด มีรอยจารจากเกจิท่านนั้นๆ
ห้า : ราคาพระเครื่องมีขึ้นลง ตามเศรษฐกิจ อย่างตอนเศรษฐกิจดีๆ สักห้าหกปีที่แล้ว พระขุนแผนหลวงปู่ทิมรุ่นหนึ่ง ราคาซื้อขายกันเกือบครึ่งล้าน ปัจจุบันอยู่ที่สองแสนปลายๆ ถ้าซื้อคอนโดเก็งกำไร แล้วมีติดดอยขายไม่ได้ พระเครื่องก็มีติดดอยครับ คือ เช่ามาตอนแพง พอจะขาย ขายออกไม่ได้เพราะราคามันตกลงเยอะ ถามช่วงไหนน่าเช่าเก็บ ก็ช่วงนี้แหละครับ เศรษฐกิจตกมาสองปีติดๆ ราคาเช่าหาลงไปเยอะครับ แต่ก็ใช่ว่าจะหาได้ง่าย เพราะบางท่านพอเก็บไหวก็เก็บไว้รอ พระดีสายนิยม เมื่อเศรษฐกิจมาก็ดีกลับครับ แต่ต้องอึดดดดดดดดดดด มากๆ ครับ
สุดท้าย : ความนิยม พระเครื่องรุ่นหนึ่งๆ มีความนิยมไม่เท่ากันนะครับ พระเกจิท่านหนึ่งอาจจะเป็นที่นิยมมาก แต่พอท่านเสียไป กลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก หรือบางครั้งก็ตอบไม่ได้ แค่ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้ต่อเนื่อง หรือสาเหตุประการใดก็ตาม กลับไม่เป็นที่นิยมเสียเฉยๆ หรืออาจเป็นที่นิยมมากขึ้น หากมีประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ใส่แล้วรวย แคล้วคลาด และเหตุการณ์นั้นดังจนคนรู้จักกันทั่วไป หลายครั้งก็เป็นที่เกจิท่านนั้นโดยตรง ที่อาจจะเคยได้ยินกัน เมื่อสักสองปีที่ผ่านมา พอเกจิท่านหนึ่งมีชื่อเสียงเสื่อมเสีย วัตถุมงคลที่เช่าหากันหมื่นสองหมื่น ห้าสิบบาทยังไม่มีคนเช่ากัน
รักและการลงทุนในพระเครื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย มีคนรวยจนตั้งตัวได้ก็เยอะ หลายๆ คนก็มีชื่อเสียงให้เห็นกันอยู่ แต่ที่ขาดทุนไปเลยเลิกไปเลยก็เยอะ เล่นพระเครื่องอย่างไรถึงมีความสุข ก็ตามที่เริ่มต้นย่อหน้านี้ไว้แหละครับ เริ่มด้วยรัก เก็บไว้ด้วยศรัทธา จะมีลงทุนบ้างก็เพราะชอบ ราคาดีขึ้นอยากปล่อยก็ดี เก็บไว้ใช้ไว้ดูก็มีความสุข แต่ถ้าลงทุนเพราะจะเอากำไร เหนื่อยครับ ยิ่งไม่ใช่อาชีพแล้วยิ่งเหนื่อย ยกเว้นเสียแต่มีเงินเย็นๆ นะครับ
ลงทุนเพราะรัก อย่าลงทุน เพราะจะเอาแต่กำไร คือเคล็ดลับการเล่นพระเครื่องอย่างมีความสุขครับ
ซีรีส์พระเครื่องเรื่องไม่ลับก็จบเพียงเท่านี้นะครับ ไว้คราวหน้ามีเรื่องอะไรที่ไขความลับทางเศรษฐกิจการค้านอกกรอบอย่างไร หรือมีเรื่องอะไรน่าสนใจน่ารู้ประดับรอยหยักสมอง จะเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ เวลาว่างหายากขึ้นทุกวันครับ