ไม่ว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะปรากฏขึ้นคราวใด ภาพความทรงจำและภาพแห่งความประทับใจของใครหลายๆ คน ก็จะฉายซ้ำขึ้นอีกครั้ง ราวกับว่าเหตุการณ์ เรื่องราว และที่มาของรูปภาพนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเพียงเมื่อวาน สามารถเล่าย้อนได้ซ้ำๆ อย่างไม่รู้เบื่อ และไม่มีทีท่าว่าจะลืมเลือน
a day BULLETIN จึงอาสาพาคุณไปพบปะพูดคุยกับนักสะสมภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อค้นความทรงจำร่วมกันอีกครั้ง
พระบรมฉายาลักษณ์ในกล่องพลาสติกใสที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ตั้งแต่สมัยที่เรียนประถม ๔ ของคุณป้าวัย ๗๐ ปี
“ถ้าสังเกตหน้าท่านดีๆ จะเห็นว่าท่านยิ้มตลอดนะ” ณิชา ณิชาบูล คุณป้าวัย ๗๐ ปี พูดด้วยรอยยิ้ม ขณะที่เรากำลังพลิกดูพระบรมฉายาลักษณ์เก่าๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในกล่องพลาสติกใสที่คุณป้าเก็บรักษาไว้ในตู้เป็นอย่างดี
บางรูปเป็นรูปที่เราเคยผ่านตามาบ้าง แต่หลายรูปก็เป็นรูปที่เราไม่ค่อยคุ้นเท่าไร ซึ่งความประทับใจของการนั่งคุยกับคุณป้าในวันนั้นไม่ใช่เพียงแค่พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ตรงหน้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเล่าสุดพิเศษของคุณป้า ตั้งแต่การเป็นรุ่นน้องของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ ไปจนถึงชีวิตพอเพียงของเธอในตอนนี้
“ป้าเก็บรูปของราชวงศ์มาตั้งแต่สมัยที่เรียนประถม ๔ ตอนนั้นป้าไม่มีพ่อ ก็รักท่านเหมือนพ่อบังเกิดเกล้า ทุกวันแม่ก็จะเล่าเรื่องของท่านให้ฟัง แล้วป้ามีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เป็นลูกของนายทหารชั้นสูง เราคุยกันว่าอยากเก็บรูปราชวงศ์ ก็เลยแข่งกันเก็บ สมัยนั้นไปหาซื้อตามร้านแผงลอยที่เขาขายๆ กัน รูปละ ๒ บาท ๓ บาท หรือบางครั้งก็ไปขอซื้อจากร้านถ่ายรูปแถวเสาชิงช้า ตอนนั้นรู้สึกจะได้ค่าขนมวันละ ๕ บาท ก็แบ่งเงินไปซื้อรูปเก็บไว้ ปรากฏว่าตอนหลังเพื่อนก็เลิกเก็บไปเพราะภารกิจเขาเยอะ ป้าก็เก็บมาคนเดียว จนกระทั่งถึงตอนนี้ที่อายุเยอะ ไม่สามารถออกไปเดินซื้อรูปได้เหมือนเมื่อก่อน ก็ไม่ค่อยได้ซื้อเพิ่มแล้ว ซึ่งสำหรับป้า การเก็บพระบรมฉายาลักษณ์ของราชวงศ์ ก็คือการแสดงความรักและความภักดีอย่างหนึ่ง”
“ทุกวันปิยมหาราช ป้าจะต้องไปรอรับเสด็จที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และทุกวันเฉลิมพระชนมพรรษา ป้าจะไปนั่งรอท่านเสด็จฯ ที่วัดพระแก้ว คอยตั้งแต่ ๔ โมงเช้า ท่านเสด็จฯ ๔ โมงเย็น ป้าไปทุกปี จนมีรูปติดมากับพระองค์ท่าน เป็นรูปเรากำลังนั่งรออยู่ด้านหลัง ส่วนด้านหน้าเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เสด็จอยู่ด้านหน้า ถ้าถามว่าประทับใจอะไรในตัวพระองค์ท่าน ก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะมันคือทุกอย่างที่ท่านทำ
“เราเคยลองกลับมาคิดนะว่า เราทำงาน เราได้ทำหน้าที่หน้าที่หนึ่ง เราก็ทำอยู่แต่หน้าที่นั้น แต่พระองค์ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และท่านทรงทำทุกหน้าที่เลย มันเป็นเรื่องยากนะที่จะมีคนที่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะขนาดเราทำงานแค่หน้าที่เดียว เรายังเหนื่อย ยังไม่ไปยุ่งกับหน้าที่ของคนอื่นเลย แต่ไม่ใช่กับท่าน แม้ท่านจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านกลับทำงานหนักยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป ดิน น้ำ ลม ไฟ ท่านทำหมด”
“จะว่าไปป้าก็ถูกใจทุกรูปนะ ถ้าไม่ถูกใจก็คงไม่ซื้อมา (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่ารูปไหนได้มายากมาก น่าจะเป็นปฏิทินเฉลิมราชย์ ๕๐ ปี ก่อนหน้านี้ป้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งการไฟฟ้าฯ ได้ปฏิทินเล่มนี้มา ๓ เล่ม เป็นของผู้ว่าฯ ๑ เล่ม รองผู้ว่าฯ ๑ เล่ม และก็ยังเหลืออีกเล่มหนึ่ง แล้วมีอยู่วันหนึ่งป้าขึ้นไปเซ็นเช็คกับรองผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ท่านมีปฏิทินนี้อยู่ ท่านก็เลยให้มา พอได้มาเราไม่บอกใครในที่ทำงานเลย กลัวเดี๋ยวเขาจะขอ (ยิ้ม)
“ตั้งแต่เกษียณมา คำสอนของพระองค์ท่านเรานำมาปรับใช้อย่างเดียวเลยคือ ความพอเพียง พอเกษียณ รายรับป้าก็ไม่มีแล้ว ได้บำเหน็จมาก้อนเดียวก็จบ ป้าจึงต้องใช้หลักพอเพียงของพระองค์ท่านนี่แหละ เวลาใครเขาไปเที่ยว เราก็จะคิดแล้วว่า ‘เฮ้ย ตอนที่เรายังทำงานอยู่ เราไปมาหมดแล้วนะ’ อาหารที่ตอนนี้อยากกินก็จะคิดว่า ‘เฮ้ย เราก็เคยกินมาหมดแล้วนะ’ พอแล้ว พอเพียงแล้ว”
นักออกแบบผู้เก็บรักษาประวัติศาสตร์ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์มายาวนานกว่า ๒๗ ปี จำนวนกว่าหมื่นใบ ซึ่งล้วนสำคัญและมีคุณค่าต่อทั้งชีวิตและจิตใจ
บรรยากาศสุดคลาสสิกซึ่งรายล้อมไปด้วยไปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ คือห้องทำงานที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านความทรงจำและของสะสมล้ำค่าของ จักร กาญจนากาศ ผู้เก็บรักษาประวัติศาสตร์ผ่านภาพถ่ายมายาวนานกว่า ๒๗ ปี มีภาพถ่ายกว่าหมื่นใบ ซึ่งล้วนสำคัญ และมีคุณค่าต่อทั้งชีวิตและจิตใจทั้งสิ้น
“ผมเริ่มต้นจากการเก็บสะสมแสตมป์และธนบัตร จนช่วงปี ๒๕๓๒-๒๕๓๓ ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ทุกครั้งที่เงินเดือนออก ผมจะมาที่ตลาดนัดจตุจักร เพื่อมาหาซื้อภาพถ่ายเก่า สมัยนั้นคนจะนิยมภาพรัชกาลที่ ๕ กัน แต่ผมจะค่อนข้างมีความผูกพันกับรัชกาลที่ ๙ เพราะเราเห็นและรับรู้มาโดยตลอดตั้งแต่เด็กๆ ว่าท่านทรงงานหนักแค่ไหน เราเลยเริ่มต้นสะสมรูปในหลวงตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งเป็นความโชคดีที่สมัยนั้นภาพถ่ายต่างๆ มีความสมบูรณ์มากกว่ายุคหลังๆ นี้เยอะ จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมเก็บสะสมรูปท่านมานานกว่า ๒๗ ปี มีภาพอยู่นับหมื่นใบ และไม่ซ้ำกันเลย”
“ในหลวงท่านมีพระปรีชาสามารถมากมายหลายด้าน ดังนั้นอิริยาบถและพระจริยวัตรต่างๆ จะมีความหลากหลายตามไปด้วย ทั้งทรงกีฬา ทรงเขียนรูป ทรงถ่ายรูป ทรงดนตรี เฉพาะแค่ตอนพระองค์ทรงงานก็มีให้เก็บมหาศาลแล้ว โดยเฉพาะภาพสมัยก่อน ซึ่งต้องบอกเลยว่าช่างภาพสมัยนั้นเก่งมาก อารมณ์ของภาพแต่ละใบจากกล้องฟิล์ม วินาทีที่จับภาพได้มันคือโมเมนต์เดียว ต่างจากกล้องดิจิตอลในปัจจุบัน เราเก็บภาพของท่านด้วยความรัก ไม่รู้เหมือนกันว่าเริ่มรักท่านตั้งแต่เมื่อไหร่ มากแค่ไหนก็ตอบไม่ได้ แต่ใจเรารัก รักเหมือนพ่อแม่ที่เกิดมาเราก็รักท่านแล้ว ไม่ใช่การรักด้วยหน้าที่ แต่เป็นความรักด้วยหัวใจ
“ผมเก็บภาพถ่ายรวมถึงเรื่องราวที่มาของแต่ละภาพด้วย เกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ผมได้มาจากบ้านคน ผมไปขอซื้อจากเขา แจ้งให้เขาทราบว่าเรานำภาพท่านไปเก็บรักษาไว้อย่างดี เป็นเหมือนสัญญาใจ ในภาพแต่ละภาพ แววพระเนตรของท่านจะเป็นสิ่งที่สื่ออารมณ์ต่างๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี ผมเป็นคนรักแม่ ฉะนั้นผมจะชอบเก็บรูปที่ท่านอยู่กับสมเด็จย่า เวลาท่านอยู่กับครอบครัวท่านจะมีความอ่อนโยน ภาพที่ผมรักที่สุด เป็นภาพที่นับว่าผมโชคดีได้ไปเจอเมื่อปี ๒๕๕๐ เป็นภาพอิริยาบถตอนทรงงานธรรมดา แต่พอผมเห็นภาพใกล้ๆ ผมตัวชาเลย เพราะผู้ชายที่อารักขาในหลวงอยู่คือคุณพ่อของผมเอง เป็นภาพที่ถ้าคนอื่นเห็นคงไม่มีราคาอะไร แต่นับเป็นภาพที่มีคุณค่าทางใจที่สุดของผม”
“บนโต๊ะทำงานผมจะมีภาพท่านอยู่ตลอด เป็นเหมือนแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงาน เพราะผมทำธุรกิจกับคนจำนวนมาก ต้องใช้ความอดทนสูง เวลาทำงานเหนื่อยๆ ผมมองภาพท่าน แล้วก็จะคิดเสมอว่า หลายสิ่งหลายอย่างท่านไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ท่านก็ทำเพื่อประชาชน เป็นเหมือนกำลังใจว่า เราเป็นแค่เศษธุลีดินเดียวในแผ่นดินของท่าน ผมยึดมั่นในวัตรปฏิบัติของท่านในเรื่องของความอดทน ความเพียร นำเอาวิธีคิด คำสอนของท่าน มาใช้กับการทำงานของเรา คือทำด้วยความเพียรพยายาม ไม่ท้อถอย แต่ระหว่างเดินไปก็ไม่เบียดเบียนใคร ท่านคือพระผู้ให้อย่างแท้จริง”
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ของสะสมส่วนตัวและทรัพย์สินทางใจมายาวนานกว่า ๔๐ ปี ของนายแพทย์และนักเขียน ‘พงศกร’
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สีขาวดำเก่าแก่และหายาก ใบที่ถูกทำสำเนาและอัญเชิญมาเป็นภาพปก a day BULLETIN ฉบับที่ ๔๓๒ นั้น นอกจากจะเป็นของสะสมส่วนตัวแล้ว ยังถือเป็นทรัพย์สินทางใจมาอย่างยาวนานกว่า ๔๐ ปี ของ นายแพทย์ พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม ‘พงศกร’ นักเขียนนวนิยายชื่อดัง
“ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นประถม ๓ ที่โรงเรียนอนุบาลราชบุรี นั่นเป็นวันแรกที่ผมได้รับเสด็จในหลวง โดยปกติเส้นทางไปหัวหินมักจะใช้ถนนเพชรเกษม ไม่ตัดผ่านโรงเรียนของผม แต่ในวันนั้นขบวนเสด็จผ่าน คุณครูก็ให้เด็กๆ มานั่งรอรับเสด็จแล้วแจกธง รออยู่นานกว่า ๒ ชั่วโมง คุณครูก็ให้เตรียมกลับ สักพักก็ได้ยินเสียงรถนำขบวน พวกเราเลยนั่งลงแล้วโบกธงกัน ผมมารู้ทีหลังว่า พระองค์ทรงทราบว่ามีเด็กๆ มารอรับเสด็จ พระองค์สงสารเด็กที่มารอ จึงอ้อมมา เย็นนั้นเลิกเรียน ผมเห็นว่ามีรูปในหลวงขายอยู่หน้าโรงเรียน ก็เลยซื้อมาในราคา ๕ บาท เป็นภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งในวันนั้นพระองค์มีพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ และนับจากนั้นเป็นต้นมา ผมจึงสะสมรูปในหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ มาโดยตลอด”
“ผมเก็บรูปในหลวง รัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ไว้ในกล่องเก็บภาพถ่ายใบเล็ก จนถึงเดี๋ยวนี้มีทั้งหมดประมาณกว่า ๒๐๐ รูป สาเหตุที่เลือกเก็บไซซ์เล็ก เพราะน่ารัก พกง่าย ที่พกมาด้วยวันนี้มีประมาณ ๑๔๐ รูป แบ่งเป็นรูปในหลวงประมาณ ๓๐ รูป ถ้าถามถึงสาเหตุที่เก็บสะสมก็เพราะว่าผมรู้สึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เราเห็นพระองค์ในข่าวพระราชสำนักทุกวัน พระองค์เสด็จฯ ไปพบปะช่วยเหลือประชาชนทุกที่ ทรงงานหนักมาก แต่ก็ดูพระองค์มีความสุขกับสิ่งที่พระองค์ทำ ดูไม่เหน็ดเหนื่อยเลย ซึ่งหากเป็นคนธรรมดาก็คงแย่ไปแล้ว ยิ่งในยุคที่ผมยังเด็ก บ้านเมืองยังลำบาก หลายพื้นที่ยังไม่เจริญ เด็กรุ่นหลังที่โตมาเห็นบ้านเมืองในตอนที่ดีแล้ว อาจไม่เข้าใจว่ากว่าบ้านเมืองจะดีได้อย่างทุกวันนี้ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะพระองค์ทรงงานหนักมากจริงๆ”
“รูปทุกใบผมคัดสรรมาอย่างดี เน้นไปที่มุมภาพ หรือพระอิริยาบถที่ไม่ค่อยมีคนได้เห็น บางภาพก็ใช่ว่าจะหามาได้ง่ายๆ ถึงขั้นต้องยอมแลกรูปบางรูป ทั้งๆ ที่เราเองก็มีเพียงรูปเดียว นั่นคือรูปในหลวงทรงสกีในชุดธรรมดา รวมทั้งรูปในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ บนขบวนรถไฟ ซึ่งในภาพนั้นมีคนเดินผ่าน ทำให้เห็นพระพักตร์ของในหลวงไม่เต็มที่ ก็ไม่ใช่รูปที่สมบูรณ์อะไร แต่เราก็ซื้อ และยังมีอีกหลายๆ ภาพที่ได้มาจากต่างวาระ ต่างโอกาส รวมทั้งรูปที่ได้มาจากคุณพ่อของผมอีกที ซึ่งเป็นรูปในหลวงทรงเครื่องแบบชุดขาว คุณพ่อพกเก็บเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ตลอด ที่สำคัญผมเองไม่ได้สะสมเพราะมีมูลค่า แต่เพราะมีคุณค่าทางใจ โดยเฉพาะรูปชุดนี้ ผมจะวางไว้ที่โต๊ะทำงาน เวลาเหนื่อยๆ มักจะหยิบขึ้นมาดู เรารู้ว่าพระองค์ทรงงานเหน็ดเหนื่อยขนาดไหนเพื่อพสกนิกรชาวไทย เราเหนื่อยแค่นี้เอง จะท้อได้อย่างไร ก็ทำให้รู้สึกมีพลังขึ้นมา
“นอกจากเก็บรูปแล้ว ผมยังถ่ายทอดความทรงจำดีๆ ไว้ในรูปแบบของการวาดรูปการ์ตูนในวาระสำคัญต่างๆ ของในหลวงมากว่า ๑๐ ปี ทั้งยังน้อมนำพระราชดำรัสมาสอดแทรกไว้ในนวนิยายด้วย ซึ่งตอนนั้นกระแสเรื่องการอนุรักษ์ป่า หรือโลกร้อน ยังไม่ได้เป็นที่สนใจจากทุกคนเหมือนอย่างสมัยนี้ พระองค์เป็นคนแรกๆ ของประเทศไทยที่พูดเรื่องนี้ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าความคิดของท่านทันสมัยมาก จึงนำพระราชดำรัสของท่านมาเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นธีมของนวนิยายเรื่อง คชาปุระ ส่วนเรื่อง ฤดูดาว ก็มีที่มาจากพระราชดำรัสเรื่องพันธุ์พืช GMO เพื่อกระจายความรู้ให้คนอ่านได้เข้าใจ และตระหนักถึงพระราชดำริของพระองค์อย่างแท้จริง”
บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : adaybulletin.com | เผยแพร่เมื่อ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑
ผู้เขียน : ADB TEAM
เรื่องราวในความทรงจำของบุคคลทั้ง 3 ผู้เก็บสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตลอดชีวิต