“พระราชวังสนามจันทร์” โบราณสถานสวยสดงดงาม มรดกตกทอดจาก “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระราชพินัยกรรมแสดงพระราชประสงค์ยกพระราชวังสนามจันทร์ให้เป็นสถานที่ตั้ง “โรงเรียนนายร้อยทหารบก” โดยมีใจความว่า …
“บรรดาที่ดินตึกรามทั้งใหญ่ น้อย ที่รวมอยู่ในเขตซึ่งเรียกว่า “พระราชวังสนามจันทร์” เป็นสมบัติส่วนตัวของข้าพเจ้าโดยแท้ ไม่ได้รับมฤดกมาจาก สมเด็จพระบรมชนกนารถ มิได้ ข้าพเจ้าได้เก็บทุนในตำแหน่งหน้าที่ พระยุพราช และทุนอื่นๆ สร้างที่สนามจันทร์ และสร้างพระที่นั่งซึ่งเรียกว่า พระพิมานประฐม นั้นขึ้นก่อน ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ราชสมบัติแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เอาเงินพระคลังข้างที่ทำนุบำรุงที่นี้ตลอดมาเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเอาที่พระราชวังสนามจันทร์ไปรวมเข้ากับกองมรดกใหญ่นั้นหาควรไม่ ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ตามกฎหมายเหมือนสามัญชน ที่จะยกที่นี้ให้แก่ผู้ใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นตัวข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าขอยกที่นี้ให้แก่รัฐบาลสยามเป็นสิทธิขาด เพื่อทำเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก” — พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว –
ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ เดินทางมายังจังหวัดนครปฐม เพื่อเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานพระราชวังเดิม ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักกันดี แต่อาจจะมีเพียงไม่กี่คนที่ได้เข้ามาสัมผัสเองด้วย 2 ตา ซึ่งขอการันตีอีกเสียงหนึ่งว่า “สวยงามสมคำร่ำลือ” … ด้วยบรรยากาศที่ร่มรื่น แมกไม้ปกคลุมพื้นที่ มองไปทางไหนก็เขียวขจีทุกหย่อมหญ้า สอดรับสถาปัตยกรรมเก่าแก่ พระที่นั่ง และพระตำหนัก รวมไปถึงเรือนต่างๆ ที่ปลูกสร้างตั้งตระหง่านภายในพระราชวัง
ที่ประทับนมัสการ พระปฐมเจดีย์ และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤติ
“พระราชวังสนามจันทร์” เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ บริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า “เนินปราสาท” เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการ พระปฐมเจดีย์ และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤติ โดยใช้เวลาก่อสร้างนาน ๔ ปี โดยมี พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นแม่งาน ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์” ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) “สระน้ำจันทร์” หรือ “สระบัว” ซึ่งถือว่าเป็นพระราชวังเก่าแก่อายุเวลา ๑๐๐ กว่าปี
ต่อมา กรมศิลปากร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พระราชวังสนามจันทร์เป็น โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๗๗ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ก่อนหน้านี้ พระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักพระราชวัง กระทั่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยรองศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ในขณะนั้น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์แก่สำนักพระราชวัง
กระทั่ง “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโฉนดที่ดินพระราชวังสนามจันทร์แก่กระทรวงมหาดไทย แล้วทางจังหวัดนครปฐมรับมอบต่อจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อนำมาดำเนินการ ต่อมาได้เปิดเป็นพื้นที่ๆ ประชาชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและออกกำลังกายได้
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนัก และพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๕๑ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก ๒ ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง ๒ ห้อง ชั้นล่างมี ๒ ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ ๓ ด้านของตัวพระตำหนักทั้ง ๒ ชั้น จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือ สถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอแนซ็องส์ของประเทศฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของประเทศอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย
ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมมาตร เป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องบันได อีกด้านหนึ่งเป็นห้องเสวยและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนประกอบด้วยทางเดินกลางแบ่งอาคารเป็น ๒ ข้าง แต่ละข้างมีห้องใหญ่เป็นห้องบรรทม และห้องเล็กเป็นห้องทรงพระอักษร ล้อมด้วยระเบียงสามด้านยกเว้นด้านหลัง ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง จุดเด่นของพระตำหนักอยู่ที่ป้อมหรือหอคอยที่มุมอาคาร ยอดหลังคาเป็นกรวยแหลม นอกจากนี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบท ลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรป ด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไปพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า “พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์” และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่เดิมพระตำหนักหลังนี้ชื่อว่า “พระตำหนักเหล” ซึ่งตั้งตามนามของ ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ ๖
การเข้าชมด้านใน พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ต้องถอดรองเท้า ฝากสิ่งของ กระเป๋าถือทุกชนิด ห้ามนำเข้าไป ต้องนำของมีค่าฝากไว้ที่ Locker ด้านหน้าทางเข้า และภายในพระตำหนักห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด ภายในพระตำหนักมีรูปภาพเก่าๆ สิ่งของเครื่องใช้เช่น กลอนประตู ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟจัดแสดงให้ชม ภายในห้องต่างๆ มีการจำลองบรรยากาศให้เหมือนเดิม มีชุดแต่งกายในสมัยก่อนจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตำหนัก ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้องและติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ในราว พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกคล้ายกระท่อมไม้ในชนบททาสีแดง หลังคาทรงปั้นหยายกจั่วสูง ผังอาคารเป็นรูปไม้กางเขนแต่แขนยาวไม่เท่ากัน ภายในแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น โดยชั้นล่างด้านตะวันออกเป็นโถงใหญ่โล่งถึงชั้นบน
ส่วนแกนเหนือใต้เป็นห้องโถงทางเข้าด้านหนึ่ง และห้องนอนมหาดเล็กชั้นบนมี ๔ ห้อง ได้แก่ ห้องโถงทางทิศเหนือ มีประตูเปิดสู่ฉนวนน้ำที่เชื่อมกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ห้องทรงพระอักษรอยู่ทางทิศเหนือ ห้องบรรทมอยู่ทางทิศใต้ มีประตูออกสู่ระเบียง และห้องสรงอยู่ด้านตะวันตกของห้องพระบรรทม
พระตำหนักทับแก้ว
อาคาร ๒ ชั้น ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานสุนทรถวาย ที่ประทับในฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่า กองเสนารักษ์ราบเบารักษาพระองค์ระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า รวมทั้งเป็นสถานที่พระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก เป็นตึก ๒ ชั้น ขนาดเล็ก ทาสีเขียวอ่อน ภายในมีเตาผิงและหลังคาปล่องไฟตามบ้านของชาวตะวันตก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พักของปลัดจังหวัดนครปฐม จนกระทั่งได้รับการบูรณะใน พ.ศ. ๒๕๔๖
พระตำหนักทับแก้ว เคยเป็นวิทยาลัยทับแก้วของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ชื่อว่า “ม.ทับแก้ว”
พระตำหนักทับขวัญ
“หมู่เรือนไทย” มีชานเชื่อมต่อกันหมด ใช้วิธีเข้าไม้แบบโบราณ ฝาเรือนทำเป็นฝาไม้ปะกนกรอบลูกฟังเชิงชายและไม้ค้ำยันสลักสวยงาม ออกแบบโดย พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นนายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างรอบๆ เรือนปลูกไม้ไทย เช่น นางแย้ม นมแมว ต้นจัน และจำปี และพระตำหนักหลังนี้ได้รับการบูรณะเมื่อครั้งพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา ๑ คืน และเมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
“ม.ทับแก้ว” ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ใช้เป็นที่ก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยประมาณ ๔๒๘ ไร่ ที่ตั้งของ คณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนแบบสหศึกษาแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ และชั้นมัธยมปีที่ ๑-๖ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการต่างๆ
สาเหตุที่เลือกจังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ พระราชวังสนามจันทร์ เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยเหตุผลที่ว่า
ประการแรก พระราชวังสนามจันทร์ เคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในทางโบราณคดีและศิลปะทั้งปวง ทรงเป็นนักโบราณคดีและศิลปินชั้นเยี่ยม โดยเฉพาะทางวรรณศิลป์ ทรงสนับสนุนนาฏศิลป์ตลอดรัชสมัยของพระองค์
ประการที่สอง บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของเทวาลัยคเณศร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ พระพิฆเนศวรยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของทางมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่แล้ว
ประการสุดท้าย ที่จังหวัดนครปฐมมีพระปฐมเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญในประเทศไทย ดังนั้นบริเวณพระราชวังสนามจันทร์จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
“เทวาลัยคเณศร์ ” Unseen นครปฐม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นศาลเทพารักษ์ สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ โดยตั้งอยู่บริเวณกลางสนามหญ้าหน้าพระที่นั่ง ถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แนวการสร้างเป็นเส้นทางตรงกับ องค์พระปฐมเจดีย์ เพราะพระองค์ทรงตั้งพระทัยว่า เมื่อประชาชนมากราบไหว้ จะได้กราบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พร้อมๆ กันถึง ๒ แห่ง
ว่ากันว่า คนที่ไปกราบไหว้บูชา “เทวาลัยคเณศร์” ขออะไรก็จะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เคารพนับถือกราบไหว้สืบต่อกันมาทุกยุคสมัย สถานที่แห่งนี้ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ที่สำคัญต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ผู้หญิงต้องสวมกางเกงหรือกระโปรงยาว ห้ามสวมเสื้อสายเดี่ยวเข้าไปภายในพระราชวังโดยเด็ดขาด
ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทาง เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม
บริเวณหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ จะพบเห็นรูปปั้นสุนัขทรงเลี้ยง “ย่าเหล” ตั้งเด่นเป็นสง่า ที่มาของสุนัขทรงเลี้ยงตัวนี้ มีชาติกำเนิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม ขนปุย หางเป็นพวง สีขาว มีแต้มดำ หูตก เดิมเป็นสุนัขของหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพ เคหะนันทน์) ตำแหน่งพะทำมะรง หรือผู้ควบคุมนักโทษ (ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์)
และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเรือนจำจังหวัดนครปฐม และทอดพระเนตรเห็นสุนัขตัวนี้ และตรัสชมว่าน่าเอ็นดู หลวงชัยอาญาจึงน้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า “ย่าเหล” ปัจจุบันถูกสร้างไว้เป็นอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึง ภายในพระราชวังสนามจันทร์
สถานที่อื่นๆ ภายในพระราชวังสนามจันทร์
นอกจากนี้ ภายในพระราชวังสนามจันทร์ ยังประกอบไปด้วย พระที่นั่งพิมานปฐม, พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี, พระที่นั่งวัชรีรมยา, พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์, พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย, เรือนพระนนทิการ, เรือนพระธเนศวร, เรือนทับเจริญ, เรือนพระกรรมสักขี, เรือนพระสุรภี, เรือนราชมนู, เรือนชานเล็ก, เรือนพระนนทิเสน, เรือนสุภรักษ์, เรือนชาวที่, เรือนคฤหบดี, เรือนพระเอกทันต์, เรือนพระกรรติเกยะ, เรือนที่พักพระ, ตำรวจหลวง, คลังแสง ฯลฯ
สะพานและถนนในพระราชวัง
สะพานรามประเวศน์, สะพานนเรศวร์จรลี, สะพานจักรียาตรา, สะพานสุนทรถวาย
ถนนราชดำเนินใน, ถนนราชดำริห์ใน, ถนนไก่ป่า, ถนนพญามังกร, ถนนฆรสรณี, ถนนสีมรกฏ, ถนนกลดหรูหรา, ถนนเมฆลาโยนมณี, ถนนปิติยาลัย, ถนนไวเวลา, ถนนฑีฆาภิรมย์, ถนนอาคมคเชนทร์, ถนนกระเวนสัญจร, ถนนกลอนสิบสองถนนฆ้องปลาศ, ถนนระนาดประไลย, ถนนไฟสะดุ้ง, ถนนรุ่งสว่าง, ถนนส่างแสง, ถนนแย่งระบำ, ถนนดำนฤมิตร
สิ่งก่อสร้างในอดีต
ศาลาลงสรง, โรงละคร, สถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์ (ปัจจุบันย้ายไปประกอบใหม่ ตั้งอยู่ที่ สถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), เก๋งรถไฟ (ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นกุฏิพระสงฆ์ วัดเสนหาพระอารามหลวง) และ ศาลาเล็ก (ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นห้องสมุดที่ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร)
ประชาชนทั่วไปเข้าชม ใช้เป็นที่ออกกำลังกายได้
พื้นที่ในพระราชวังสนามจันทร์ เปิดให้บริการประชาชนเข้าชมได้ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา หลังมีการปิดปรับปรุง โดยอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกาย ช่วงเช้า เวลา ๐๕.๐๐ – ๐๘.๐๐ น. และช่วงเย็น เวลา 1๑๖.๐๐ – ๒๐.๐๐ น.
ผู้ที่สนใจจะไปเยี่ยมชม สามารถติดต่อสอบถามไปยัง
พระราชวังสนามจันทร์ ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
โทรศัพท์ : ๐-๓๔๙๐-๐๑๗๑-๔ ต่อ ๖๐๒๗, ๐-๓๔๙๐-๐๑๗๗
โทรสาร : ๐-๓๔๙๐-๐๑๗๕
อีเมล : pr.sanamchan@gmail.com
**รายละเอียดต่างๆ ของพระราชวังสนามจันทร์ ความสวยสดงดงามที่คงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมความเก่าแก่ ประชาชนคนไทยสามารถเข้าไปสัมผัสบรรยากาศได้ด้วยตัวเอง ผู้เขียนขอการันตีว่า “สวยสดงดงามไม่แพ้ชาติใดในโลก”
– อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก หอสมุดแห่งชาติ
– ขอบพระคุณภาพถ่ายจาก “คุณสุกัญญา บิลภัทร New Deligh”
บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : thairath.co.th | เผยแพร่เมื่อ ๔ สิงหาคม ๑๕๖๒