“นอนอยู่อยุธยา มานั่งที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ จำศีลที่วัดระฆัง” นี่คือคำกล่าวขานที่บอกต่อๆ กันมาถึงอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (โต พฺรหฺมรํสี) ซึ่งยังคงทิ้งปริศนาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ครุ่นคิดว่าแท้จริงแล้วท่านเป็นหน่อเนื้อกษัตริย์เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างที่มีการบันทึกต่อๆ กันมาหรือไม่
ในต้นรัตนโกสินทร์เป็นที่รู้กันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เป็นพระนักเทศน์และนักสอนธรรมะชนิดที่ไม่มีพระรูปใดในสยามเทียบได้ นอกจากนี้ท่านยังเป็นสมณะที่ไม่ยินดีในสมณศักดิ์ เป็นผู้สมถะ มักน้อย ไม่มีความทะยานในลาภ ยศ วัตถุ ไม่เรี่ยไร ไม่สะสมข้าวของ ปัจจุบันมีตำนานต่างๆ ที่กล่าวถึงท่านปรากฏอยู่มากมาย
ช้างเผือกกินหนังสือ
เล่ากันว่า คืนก่อนที่สามเณรโตจะย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม พระอาจารย์รูปหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นาค) ได้ฝันว่ามีช้างเผือกตัวหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมด ชะรอยว่าจะมีคนนำเด็กที่เฉลียวฉลาดมีบุญมาฝากตัวเป็นศิษย์ รุ่งขึ้นท่านเจ้าคุณอรัญญิกก็นำสามเณรโตมาถวายตัวเป็นศิษย์
เมตตามหาโจร
คราวหนึ่งขณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต กำลังจำวัดอยู่ในเวลาดึกสงัด มีขโมยแอบย่องเข้ามาใต้ถุนกุฏิ เอื้อมมือขึ้นทางช่อง หวังหยิบเอาตะเกียงลานที่วางอยู่ทางปลายเท้าของท่าน แต่หยิบไม่ถึง เจ้าประคุณสมเด็จฯ รู้ตัวตื่นขึ้นพอดีท่านไม่ได้ร้องไล่ แต่กลับเอาเท้าเขี่ยตะเกียงให้ อีกคราว ตอนท่านกลับจากแสดงธรรมเทศนาที่ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นเสื่อ หมอน ระหว่างจอดเรือพักนอนตอนกลางคืน มีขโมยลอยเรือเข้ามาเงียบๆ คว้าเอาเสื่อไปเจ้าประคุณเฝ้าดูอยู่ในความมืด จึงพูดขึ้นเรียบๆ ว่า “เอาหมอนไปด้วยสิจ๊ะ” พวกโจรตกใจรีบจ้ำเรือหนี ท่านก็โยนหมอนตามไปให้
ขายผ้า (ไตรจีวร) เอาหน้ารอด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พระอารามหลวงริมน้ำแต่งเรือเข้าประกวด และพระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรที่ท่าราชวรดิฐ (ตำหนักแพ) วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่างแข่งกันประดับประดาเรืออย่างวิจิตร มีแต่เรือของวัดระฆังที่เป็นเรือสำปั้นเก่า และมีเพียงเณรพายหัวท้าย ตรงกลางมีลิงตัวหนึ่งผูกไว้กับหลัก แขวนป้ายที่คอว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด” พอพระองค์ทราบว่าเป็นเรือของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ก็ตรัสขึ้นว่า “เขาไม่เล่นกับเรา” ต่อมามีข้าราชบริพารไปถามความหมายของคำว่า ”ขายผ้าเอาหน้ารอด” สมเด็จพระพุฒาจารย์โต อรรถาธิบายว่า “พระสมณะย่อมหาสมบัติได้ยาก นอกจากมีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย ซึ่งก็มีเพียงเครื่องอุปโภคบริโภค ย่อมไม่มีทุนทรัพย์หรือสิ่งใดมาแลกเปลี่ยนลงทุนซื้อหาสิ่งต่างๆ ที่จะนำมาประดับประดาเรือให้สวยงามได้ ถ้าจะทำเช่นนี้ได้ต้องนำเอาผ้าไตรจีวรไปขายเสีย เพื่อเอาเงินมาทำทุนประดับเรือ จึงเท่ากับยอมขายผ้าเอาหน้ารอดไว้ก่อน ถึงแม้ว่าผ้าเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องเอาไว้ใช้ห่มห่อสังขารกันร้อนหนาวก็ตาม”
หนีรัชกาลที่ 4 ด้วยมนต์นารายณ์แปลงรูป
หลังจากพระมหาโตออกธุดงค์หนีหายไปหลายปี รัชกาลที่ 4 ทรงระลึกถึง และมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าเมืองทั่วพระราชอาณาจักรหาตัวพระมหาโตนำส่งเมืองหลวงให้ได้ พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า เรียกว่า ”นารายณ์แปลงรูป” ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้พระรูปอื่นต้องถูกจับไปอดเช้าบ้าง อดเพลบ้าง ตากแดดตากฝน เพราะเข้าใจว่าเป็นท่าน ท่านจึงออกแสดงตนให้คนที่บ้านไผ่รู้จัก และนำตัวท่านส่งเข้าพระนคร
ภาพถ่ายฟิล์มกระจก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
บุญไม่เต็มบาทจากยายแฟงหัวหน้าซ่อง
ยายแฟงมีอาชีพเป็นหัวหน้าซ่องนครโสเภณี ต่อมาคิดอยากสร้างกุศล จึงได้สร้างวัดใหม่ยายแฟงขึ้นที่ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย ฝั่งพระนคร จากนั้นนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์ ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า ”ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ได้ผลานิสงส์พร่องไม่เต็มหน่วย เพราะเป็นเงินจากน้ำพักน้ำแรงคนอื่นที่ไม่ชอบด้วยธรรมนิยม ถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท” ปัจจุบันวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดคณิกาผล
พระสมเด็จเขียวแก้อหิวาต์
พ.ศ. 2416 เกิดโรคอหิวาต์ หรือโรคป่วง ครั้งใหญ่ในพระนคร มีคนล้มตายเกือบ 4,000 คน เล่ากันว่า มีการแจกจ่ายพระสมเด็จฯ ชนิดปรกเมล็ดโพธิ์ ที่เรียกว่า สมเด็จเขียว ครั้งนั้นหญิงชื่อธูปมีอาการท้องเดินจนตัวซีดไม่รู้จะหายาที่ไหน นึกถึงพระสมเด็จฯ ที่มีอยู่ จึงอาราธนาน้ำมนต์กินบ้าง เอาตบศีรษะบ้าง จนโรคหาย และว่ากันว่าคนอีกมากที่รอดตายเพราะพระสมเด็จเขียว
สามเณรโตปราบจระเข้
แต่ครั้งยังเป็นสามเณรโต บิดามารดาได้พาล่องเรือเพื่อนำไปฝากเรียนปริยัติธรรมกับพระครูที่หัวเมืองไชยนาทบุรี ระหว่างจอดเรืออยู่ที่ท่าในเวลากลางคืน มีจระเข้ตัวหนึ่งเสือกตัวขึ้นมาบนเรือ หวังคาบคนไปกิน สามเณรโตลุกขึ้นนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ ว่ากันว่าไม่ทันไรจระเข้ตัวนั้นก็อ่อนแรง อ้าปากไม่ออก ไม่ฟาดหางทำอันตรายคนบนเรือ
พูดดีแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พูดจ๊ะจ๋ากับทุกคน แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน คราวหนึ่งสุนัขนอนขวางทางเดินของท่านอยู่ ท่านพูดกับสุนัขตัวนั้นว่า “โยมจ๋า ฉันขอไปทีจ้ะ” เมื่อมีคนถามว่าทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น ท่านตอบว่า “ฉันไม่รู้ได้ว่าสุนัขนี้เคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดกกล่าวว่าในกาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข”
ฉันอาหารเพื่อความไม่อร่อย
เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักฉันอาหารในบาตรเสมอ ซึ่งทำให้อาหารต่างๆ เสื่อมรส หรือถ้าคำแรกรู้สึกว่าอร่อย ท่านก็จะฉันเพียงคำนั้นคำเดียว แล้วเอาไปให้พระรูปอื่น หรือเหลือไว้ให้ศิษย์ หรือไม่ก็เอาไปให้ทานสุนัข นกกา ยามมีญาติโยมนิมนต์มาฉันที่บ้าน ระหว่างเดินทางมาท่านจะเก็บใบไม้บางอย่างติดมือมาด้วย เวลาฉันก็เอาใบไม้เหล่านั้นเจือลงในอาหาร เพื่อให้สิ้นรสชาติอันโอชะ
ศูนย์กลางของโลกอยู่ที่นี่
ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยามหลายคณะ ด้วยความเป็นปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ในขณะนั้น ทำให้นักบวชต่างศาสนามักมาแลกเปลี่ยนทัศนะกับท่านอยู่เนืองๆ ครั้งหนึ่งท่านนักบวชของคริสตจักรกล่าวสรรเสริญคุณธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่ก็อดที่จะเปรียบเปรยไม่ได้ว่า ท่านเจ้าประคุณฯ แม้จะมีธรรมะอันลุ่มลึก แต่ในทางโลกก็ไม่สู้จะรู้เรื่องนัก ท่านเจ้าประคุณฯ ย้อนว่า ตัวท่านก็คงเช่นเดียวกัน บาทหลวงว่า ท่านรู้ดีทั้งทางโลกทางธรรม เช่น รู้ว่าโลกกลมไม่ได้แบน และมีปลาอานนท์หนุนอยู่ดังคติความเชื่อของคนไทยที่ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนา เจ้าประคุณฯ แย้งว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ 2,000 กว่าปีมาแล้วว่าโลกเรามีสัณฐานกลม เช่น ผลมะขามป้อมที่พระองค์หยิบมาวางไว้บนฝ่าพระหัตถ์ และอาตมายังรู้ด้วยว่าจุดศูนย์กลางของโลกอยู่ที่ไหน “อยู่ตรงนี้ไงล่ะท่านบาทหลวง” ท่านชี้นิ้วลงตรงหน้า “ก็ท่านบอกอยู่แล้วว่าโลกกลม ฉะนั้นไม่ว่าจะเอานิ้วจิ้มลงไปที่ใด มันก็ตรงไปสู่จุดศูนย์กลางได้ทั้งนั้นแหละ”
ฝากคำพยากรณ์ชะตาเมือง
หลังสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี สิ้นชีพิตักษัย ในคืนวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อนายอาญาราช (อิ่ม) ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฏิ เข้าไปเก็บในกุฏิ ก็ได้พบกระดาษชิ้นหนึ่งเขียนด้วยลายมือท่านเจ้าประคุณฯ เป็นคำทำนายชะตาเมืองในยุคกาลข้างหน้าว่า “มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราชโจร ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาววิไล”
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 316 มิถุนายน 2554
ที่มา : sarakadeelite.com