ท่านอาจารย์อิฏฐ์ เริ่มสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร เพราะท่านเริ่มฝึกฝนวิชาการด้านคาถาอาคมมาตั้งแต่สมัยนั้น ในระยะแรกๆ ท่านสร้างพระบ้าง ทำผ้ายันต์บ้าง ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า ท่านทำออกมาแล้วไม่มีใครอยากได้ของท่านเลย เพราะทุกคนเห็นท่านเป็นแค่เณร หรือยังเป็นเด็กอยู่นั่นเอง ไม่มีใครเชื่อว่าท่านทำของออกมาแล้วจะขลัง ตอนนั้นท่านเขียนผ้ายันต์ไว้ประมาณ 8 – 9 ผืน เขียนด้วยลายมือของท่านเอง เป็นผ้ายันต์ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1.5 – 2 เมตร แล้วท่านก็แจกเขาไว้ตามร้านค้าที่รู้จักมักคุ้น และให้ลูกศิษย์ไปบ้าง แต่ละคนก็รับไว้ด้วยเกรงว่าท่านจะเสียน้ำใจ ป้จจุบันผู้ที่เป็นเจ้าของต่างหวงกันอย่างสุดใจขาดดิ้น เพราะท่านคงไม่ทำให้ใครอีกแล้ว
วัตถุมงคลของท่านในระยะแรกๆ ไม่ค่อยมีใครอยากได้ตามที่ผมเรียนต่อท่านผู้อ่านมาแล้ว ไม่เฉพาะตอนเป็นเณรเท่านั้น แม้แต่ตอนเป็นพระ และถึงตอนเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็ตาม บางทีท่านส่งพระให้ บางคนก็ส่ายหัวไม่รับ ถ้าไม่สนิทกันท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าสนิทสนมกัน ท่านก็จะบอกว่ารับไว้เหอะ ดีนะ บางคนก็รับไว้อย่างเสียไม่ได้ จนท่านถึงกับตั้งชื่อรุ่นวัตถุมงคลของท่านเป็นชื่อแปลกๆ ที่ไม่มีใครกล้าตั้งกันมาก่อน เช่น รุ่นยัดเยียด รุ่นเสือกให้ รุ่นไล่แจก แต่ปัจจุบันนี้วัตถุมงคลต่างๆ เหล่านั้นได้หมดไปแล้ว และมีแต่คนแสวงหากัน คนเราก็เป็นอย่างนี้แหละครับ เวลามีใครให้ก็ไม่เอา เวลาหมดแล้วมานั่งเสียใจ บ่นเสียดายว่า รู้งี้เก็บไว้เยอะๆ ก็ดี เรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตุหรือเป็นเครื่องชี้ให้เราคิดได้ว่า พระเครื่องหรือวัตถุมงคลที่พระท่านทำแจกหรือจำหน่ายเพื่อหาเงินมาบูรณะวัด เมื่อหมดไปจากวัดแล้ว คนยังมาเสาะหากันมากๆ แสดงให้เห็นว่าวัตถุมงคลนั้นนำไปใช้แล้วได้ผล มีประสบการณ์เกิดขึ้น ถึงได้เป็นที่ต้องการ แต่บางรุ่น บางอาจารย์ เมื่อหมดแล้วก็เงียบหายไปเลย ไม่มีใครถามถึงอีก เพราะไม่เคยเกิดประสบการณ์กับผู้ใช้ และไม่เป็นที่กล่าวขวัญถึง แต่วัตถุมงคลของท่านอาจารย์หมดแล้ว มีแต่คนเสาะหากันตลอดมา และมีค่าแลกเปลี่ยนสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้าทำนองอย่างที่ผมบอกนั่นแหละครับ
สำหรับวัตถุมงคลของท่านอาจารย์อิฏฐ์ ซึ่งผมจะแนะนำต่อท่านผู้อ่าน ผมจะพยายามเรียงลำดับ รวมทั้งรายละเอียดพร้อมรูปภาพประกอบ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับวัตถุมงคลแต่ละรุ่น เท่าที่จะสอบถามได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ คือ
1. พระสมเด็จรุ่นหลังวัด
เป็นพระสมเด็จเนื้อผง ฐาน 3 ชั้น ด้านหลังเรียบ มีขนาดกว้าง 2.7 ซม. สูง 3.5 ซม.
จำนวนการสร้าง 50,000 องค์
พระสมเด็จรุ่นนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 สมัยนั้นท่านยังเป็นลูกศิษย์วัด แต่กว่าจะเสร็จก็สมัยท่านบวชเป็นเณรแล้ว ระยะแรกๆ เป็นเพียงการเริ่มแกะแม่พิมพ์ ซึ่งท่านกล่าวว่าหลังจากที่ท่านกลับจากกรุงเทพฯ ท่านก็มีส่วนร่วมในการสร้างพระรุ่นนี้ตลอด ตั้งแต่การรวบรวมผงพุทธคุณ ซึ่งท่านอาจารย์ช่วยกัน 2 คน กับหลวงตาคล้าย โดยท่านหลวงพ่อเนื่องไม่ได้ยุ่งด้วย แต่ท่านให้ผงสำคัญมาผสมลงไป นั่นคือ ผงพุทธคุณของหลวงปู่นาค วัดระฆัง ซึ่งได้มอบให้กับหลวงพ่อเนื่องนานมาแล้ว เพราะท่านเป็นสหธรรมมิก มีความสนิทสนมกันมาก ผงสำคัญอีกสำนักหนึ่งก็คือ ผงของวัดสุทัศน์ นอกจากนั้นก็เป็นส่วนผสมตามสูตรของการสร้างพระสมเด็จ เมื่อสร้างแล้วก็นำเข้าพิธีปลุกเสกเวลามีงานที่วัด จากนั้นท่านก็ปลุกเสกกันเอง แต่ไม่ได้แจกออกไป จนกระทั่งมีงานหล่อพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2515 ซึ่งตอนนี้ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ทีวัดจุฬามณีแล้ว
จากนั้นอีกระยะหนึ่ง เมื่อมีการสร้างฐานพระประธาน จึงได้บรรจุพระสมเด็จนี้ไว้ที่ฐานชุกชีของพระประธาน จำนวน 40,000 องค์ ที่เหลือ 10,000 องค์ ได้เก็บไว้ นำออกมาแจกบ้าง เมื่อท่านอาจารย์บวชเป็นพระแล้ว มีผู้นำไปใช้เกิดประสบการณ์ โดยเฉพาะผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ จึงพากันมาขอจากหลวงพ่อเนื่อง แต่หลวงพ่อเนื่องท่านจะบอกว่าที่ท่านไม่มี ให้ไปเอาที่หลังวัด จึงเรียกพระสมเด็จรุ่นนี้ว่า “พระสมเด็จหลังวัด” เมื่อพิจารณาพิมพ์และเนื้อหาแล้ว ผมคิดว่า พระสมเด็จรุ่นนี้ไม่น้อยหน้าใคร พิมพ์เข้าท่ามาก เนื้อยิ่งแจ๋วใหญ่เลย ตอนแรกที่เห็นก็เฉยๆ แต่พอถ่ายรูปออกมาแล้ว ผมจึงต้องเอามาส่องอยู่นาน เพราะเนื้อหาสวยงามมาก คงจะเป็นเพราะมีอายุการสร้างนานถึง 30 ปีแล้ว ทำให้เนื้อเริ่มจัด ซึ่งนั่นหมายความว่า พระที่เก็บไว้นานแล้วเนื้อจะจัดนั้น ต้องมีสูตรการผสมและผงพุทธคุณที่ดีด้วย
2. ท้าวเวสสุวัณโณเนื้อผงรุ่นแรก
ลักษณะด้านหน้า เป็นรูปท่านท้าวเวสสุวัณโณยืนย่อเข่า มือถือกระบอง ยืนอยู่ภายในซุ้มที่มีลักษณะคล้ายซุ้มประตู คือ ด้านข้างเป็นเสา ด้านบนเป็นลายกนก ด้านหลังเรียบ ลักษณะเนื้อพระ เป็นเนื้อผงสีขาวอมเหลือง มีส่วนผสมของเนื้อพระสมเด็จหลังวัดค่อนข้างมาก เพราะใช้เนื้อที่เหลือมาสร้าง นำเข้าพิธีปลุกเสกเสาร์ 5 ปี พ.ศ. 2516 จำนวนการสร้าง 1,000 องค์ ปัจจุบันไม่ค่อยมีโอกาสพบเห็น เพราะมีจำนวนน้อย และแจกหมดไปนานแล้ว ผู้ใดมีอยู่ก็หวง
3. เหรียญท่านท้าวเวสสุวัณโณ พ.ศ. 2532
เป็นเหรียญรูปไข่ ขนาดกว้าง 2.7 ซม. สูง 3.4 ซม.
ด้านหน้า เป็นรูปท่านท้าวเวสสุวัณโณ ภาคเทพบุตร นั่งบนแท่น มี 4 กร ใต้ฐานเขียนว่า เทวสุวรรณพรหมาชุติเทพ
ด้านหลัง เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนดอกบัว ทรงพิจารณาบัว 4 เหล่า ข้างซ้าย ขวา เขียนว่า วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม รอบขอบเหรียญเป็นอักขระขอม
จำนวนการสร้าง
- เนื้อทองคำ 80 เหรียญ
- เนื้อเงิน 432 เหรียญ
- เนื้ออัลปากา 10,000 เหรียญ
- เนื้อบรอนซ์ 1,000 เหรียญ
4. ผ้ายันต์แม่ย่านาง พ่อคุณพระ
สร้าง พ.ศ. 2532 เป็นผ้ายันต์ที่พิมพ์รูปแม่ย่านางและพ่อคุณพระ ขนาดกว้าง 17 ซม. สูง 23 ซม.
จำนวนการสร้าง
- ผ้าไหมสีเหลือง 1,000 ผืน
- ผ้าธรรมดา 2,000 ผืน
ใช้ติดรถหรือพกติดตัวเป็นแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุใช้บูชาที่บ้าน ค้าขายดี
5. ผ้ายันต์มหาเวทย์ – มหามนต์
เป็นผ้ายันต์สีขาว พิมพ์รูปท่านท้าวเวสสุวัณโณ 3 ภาค มี 2 ขนาด คือ
- ขนาดใหญ่ หมึกสีดำ สร้างจำนวน 12,000 ผืน
- ขนาดเล็ก หมึกสีแดง สร้างจำนวน 12,000 ผืน
สำหรับขนาดใหญ่ ใช้บูชาประจำบ้าน ค้าขายดี ป้องกันคุณไสย ปราศจากภัยมาเบียดเบียน
ขนาดเล็กมีขนาดเท่ารูปโปสการ์ด ใช้พกติดตัว ป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ผลเป็นอย่างดี
6. รูปเหมือนท่านท้าวเวสสุวัณโณ ลอยองค์ เนื้อโลหะ พิมพ์ย่อเข่า
สร้างในปี พ.ศ. 2532 เป็นรูปท่านท้าวเวสสุวัณโณยืนย่อเข่า ถืออาวุธ มีใบหน้าเป็นยักษ์ ขนาดสูง 2.7 ซม.
จำนวนการสร้าง
- เนื้อทองคำ 9 องค์
- เนื้อเงิน 400 องค์
- เนื้อทองผสม 6,000 องค์
เนื่องจากเป็นการสร้างรูปลอยองค์ครั้งแรก และจำนวนไม่มาก จึงได้หมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดประสบการณ์กับผู้พกพาท่านติดตัวอย่างมากมายในทุกด้าน ซึ่งผมขอยกตัวอย่างประสบการณ์มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังสัก 1 ราย
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ คือ “คุณสุวรรณี เปรื่องวิทยาการ” ซึ่งได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปกราบท่านอาจารย์ในตอนเย็นวันหนึ่ง ได้พูดคุยกับท่านอาจารย์อยู่พักใหญ่ๆ ก็กราบลากลับ แต่ท่านอาจารย์ไม่ยอมให้กลับ คุณสุวรรณีจึงอยู่ต่อสักพัก ก็ขออนุญาตกลับอีก แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ยอม ทางคุณสุวรรณีก็รู้สึกกระวนกระวายอยากกลับ เพราะดึกมากแล้ว จนกระทั่งท่านอาจารย์พูดว่า อยากจะไปตายหรือไง คุณสุวรรณีจึงต้องอยู่ต่ออีกหน่อย ท่านอาจารย์จึงอนุญาตให้กลับ จึงได้ออกจากวัด โดยเพื่อนคุณสุวรรณีเป็นคนขับ เป็นรถเปอร์โย 505 เมื่อมาถึงบริเวณหน้าโรงงานน้ำปลาตราหอยหลอด ขณะนั้นเวลาประมาณ 5 ทุ่มกว่า ได้มีรถปิคอัพเลี้ยวกลับตัดหน้าอย่างกระทันหัน ทำให้รถที่คุณสุวรรณีนั่งไปพุ่งเข้าชนอย่างแรง รถพังยับเยิน หน้าของคุณสุวรรณีกระแทกกระจกเป็นบาดแผลตรงหว่างคิ้ว นอกนั้นไม่เป็นอะไร ทั้งคุณสุวรรณีและเพื่อน ที่คุณสุวรรณีห้อยคออยู่คือ ท่านท้าวเวสสุวัณโณพิมพ์ย่อเข่าเนื้อทองคำเพียงองค์เดียวเท่านั้น เข้าใจว่าเวลาที่คุณสุวรรณีจะกลับในช่วงแรกเป็นเวลาที่อยู่ในเคราะห์ร้ายแรง ท่านอาจารย์จึงยังไม่ให้กลับ แต่เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ถึงแก่ชีวิต แต่เป็นกรรมที่ต้องเกิดกับคุณสุวรรณี ท่านจึงอนุญาตให้กลับได้ ประกอบกับคุณสุวรรณีมีท่านท้าวเวสสุวัณโณติดตัวอยู่แล้ว จึงทำให้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นได้
7. รูปเหมือนท่านท้าวเวสสุวัณโณ ลอยองค์เนื้อโลหะ พิมพ์เข่าตรง
พิมพ์นี้สร้างพร้อมกับพิมพ์ย่อเข่าในปี พ.ศ. 2532 เป็นพิมพ์ยืนเข่าตรง หน้ายักษ์ ขนาดสูง 2.9 ซม. นำออกแจกและจำหน่ายหลังพิมพ์ย่อเข่า จึงถือกันว่าพิมพ์นี้เป็นรุ่นหลัง
8. ท้าวเวสสุวัณโณเนื้อผง รุ่น 2
สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2533 มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก เป็นพิมพ์หน้ายักษ์ทั้งหมด ทั้ง 3 พิมพ์ มีขนาดใกล้เคียงกันมาก ถ้าเห็นทีละองค์จะพิจารณาไม่สะดวก ต้องใช้วิธีจำหน้าจึงจะแยกได้ง่าย
จำนวนการสร้าง
- พิมพ์ใหญ่ 20,000 องค์ ขนาดกว้าง 1.7 ซม. สูง 2.8 ซม.
- พิมพ์กลาง 20,000 องค์ กว้าง 1.5 ซม. สูง 2.9 ซม.
- พิมพ์เล็ก 20,000 องค์ กว้าง 1.3 ซม. สูง 2.7 ซม.
ท่านท้าวเวสสุวัณโณรุ่นนี้ มีประสบการณ์ทางด้านมหาอุตม์ มีคนถูกยิงที่บางแพ ราชบุรี แต่ยิงไม่ออก คนถูกยิงแขวนรูปท่านท้าวเวสสุวัณโณเนื้อผงรุ่น 2 พิมพ์กลาง นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดหลายครั้งหลายหน เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่น่าใช้บูชามาก
ผู้เขียน : สุวัฒน์ เหมอังกูร
ที่มา : www.rachandam.com