หากย้อนกลับไปในช่วงปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๕ เหล่าลูกศิษย์ในยุคนั้นมักจะสอบถามหลวงพ่ออิฏฐ์อยู่บ่อยๆ ว่าเมื่อไหร่จะสร้างเหรียญท้าวเวสสุวรรณโณปางยักษ์ให้ลูกศิษย์เอาไว้ใช้บ้าง (ในตอนนั้นเหรียญที่ท่านสร้างจะเป็นเหรียญปางเทพ เช่น เหรียญรุ่นแรกปี ๒๕๓๒ ปางพรหมาสุติเทพ และเสมาคว่ำปางพระไพศรพณ์ ในปี ๒๕๓๗ นอกจากนั้นก็จะมีเหรียญพระเหนือพรหม เป็นต้น) จึงเป็นปฐมบทที่ทำให้หลวงพ่ออิฏฐ์ท่านคิดจะออกแบบเหรียญ เป็นท้าวเวสสุวรรณโณปางยักษ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
ขอเท้าความก่อนหน้านี้ ถามว่าในวงการพระเครื่องเคยมีวัดไหนสร้างพระเครื่องทรงจำปีนี้บ้างหรือไม่ ? ตอบเลยครับว่า “ไม่มี” หากคล้ายๆ ก็มีอยู่ แต่ไม่ได้เรียกว่าเหรียญจำปี นักนิยมพระเครื่องสายแม่กลองเรียกว่า “เหรียญหล่อศรีจำปา” นั่นก็คือเหรียญหล่อหลวงพ่อวัดบ้านแหลม วัดศรีจำปา (ชื่อเดิมของวัดเพชรสมุทรฯ) สร้างราวปี ๒๔xx เป็นเหรียญหล่อโบราณ รูปทรงไม่ค่อยได้สัดส่วนเท่าไรนัก ปัจจุบันหาชมได้ยาก แต่เหรียญจำปี ๔๕ ของวัดจุฬามณี หลวงพ่ออิฏฐ์ ก็มิได้ตั้งใจที่จะนำเอาเหรียญศรีจำปานี้มาเป็นต้นแบบ
แต่กำเนิดรูปแบบเหรียญทรงจำปี ๔๕ วัดจุฬามณี แท้จริงนั้น หลวงพ่ออิฏฐ์ ท่านได้พัฒนาปรับรูปแบบมาจาก “เหรียญทรงระฆังของหลวงพ่อเกษม เขมโก” โดยเริ่มแรกท่านคิดจะเอารูปเหรียญระฆังมาเป็นต้นแบบเพื่อจะวางรูปท้าวเวสสุวรรณโณปางยักษ์ลงไป แต่ก็ยังไม่ถูกใจ ไม่ลงตัว ปรับไป ปรับมา ท่านก็ได้ลองเอาไม้บรรทัดสองอันมาต่อลงจากขอบล่างเส้นซุ้มระฆังของรูปเหรียญระฆังที่นำมาทำเป็นต้นแบบในทีแรก และเมื่อลองนำรูปท้าวเวสสุวรรณโณปางยักษ์วางลงไปแล้ว ปรากฏว่าสวยลงตัวพอดี หลวงพ่อจึงสั่งให้ลูกศิษย์ที่เขียนแบบให้เปลี่ยนแบบจากทรงระฆังเป็นทรงนี้แทน และนั่นจึงเป็นที่มาของแบบเหรียญจำปีรุ่นแรก ปี ๔๕ อันเข้มขลังและโด่งดังมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนด้านหลังวางยันต์ประจำตัวท่าน คือ ยันต์พุทธซ้อน ๒ ชั้น ด้านในยันต์วางเลข ๓ (ไตรสรณคมน์ ๓ หรืออีกนัยหนึ่งคือ พรหมโลก เทวโลก มนุษย์โลก), เลข ๗ (โภชฌงค์ ๗ “สะ ธะ วิ ปิ ปะ สะ อุ”) และเลข ๙ (นวะหรคุณ๙ “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ”) ล้อมด้วยอักขระ “ อินทร์รักษา”, “ พรหมรักษา” และ”ท้าวกุเวโรรักษา” ด้านบนของยันต์เป็น “นะ เทวดา” ด้านล่างของยันต์เป็น “เฑาะ” ซึ่งยันต์นี้เป็นยันต์ที่องค์ปู่เวสฯ ท่านได้นิมิตมอบให้หลวงพ่ออิฏฐ์นำมาใช้
และเมื่อสรุปแบบได้แล้ว หลวงพ่ออิฏฐ์ จึงได้มอบหมายให้นายช่างตุ้ม โรงงานโสภณโลหะภัณฑ์ เป็นผู้ขึ้นพิมพ์และควบคุมการผลิตเหรียญทั้งหมด โดยหลวงพ่ออิฏฐ์ ท่านได้มอบโลหะชนวนมวลสารที่ท่านได้ตะเวนเสกมาหลายสิบปี รวมถึงเหรียญยอดนิยมของเกจิอาจาย์ดังๆ รุ่นเก่าๆ ที่ท่านได้สะสมไว้ ให้นายช่างนำไปหล่อหลอมผสมกับโลหะหลัก แล้วนำมารีดเป็นแผ่น เพื่อใช้ในการปั้มขึ้นรูปเหรียญแต่ละเนื้อต่อไป โดยในครั้งนั้นได้จัดสร้างเหรียญทรงจำปีเป็นเนื้อทองคำ ๘๐ เหรียญ, เนื้อเงิน ๕๐๐ เหรียญ, เนื้อเงินลงยา ๕๐๐ เหรียญ, เนื้อนวโลหะ ๕๐๐ เหรียญ, เนื้อทองแดงรมดำ ๑๕๐,๐๐๐ เหรียญ, เนื้อตะกั่ว ๑๕๐,๐๐๐ เหรียญ, เนื้อผง ๑๕๐,๐๐๐ เหรียญ
แต่ในพิธีเทวาภิเษก ปี ๒๕๔๕ ในครั้งนั้นมิได้มีเฉพาะเหรียญและพระผงพิมพ์จำปีเท่านั้น ยังมีเหรียญและวัตถุมงคลแบบอื่นที่เข้าร่วมพิธิในคราวนั้นอีก ประกอบไปด้วย เหรียญหนุมานมหาปราบ, เหรียญพัดจีน, รูปหล่อท้าวเวสุวรรณขนาดห้อยคอพิมพ์หน้าเดียวและพิมพ์สองหน้า และรูปหล่อท้าวเวสสุวรรณขนาดบูชา ๑๘ นิ้ว เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : คุณช้าง บางจาก @Komsan
ที่มา : วัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม