“หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร (วังเดื่อ) ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อดีตพระเถระนักพัฒนาที่มีอายุกาลพรรษาสูงอีกรูปของนครสวรรค์
มีนามเดิมว่า จ้อย (ภาษาลาวพื้นบ้านแปลว่าผอม บางคนก็เรียกท่านว่าหลวงพ่อจ่อย ซึ่งก็แปลว่าตัวเล็ก) เกิดในตระกูลปานสีทา ที่ ต.พลวงสองนาง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖
มีพี่น้องด้วยกัน ๖ คน เป็นชาย ๓ คน หญิง ๓ คน คือ
๑. นางทองดี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. พระครูจ้อย หรือ หลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ
๓. พระภิกษุสิงห์ (มรณภาพแล้ว)
๔. นางแต๋ว (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นางหนู เหล่าเขตกิจ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๖. พระภิกษุสุเทพ (มรณภาพแล้ว)
ในช่วงวัยเยาว์ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนดอนหวาย อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี แต่ด้วยครอบครัวมีฐานะยากจน ต่อมาได้โยกย้ายที่ทำกินไปถึงบ้านวังเดื่อ ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์
เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่วัดดอนหวาย ต.พลวงสองนาง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี โดยมีพระครูปลัดตุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์บุญธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์บุญตา เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่จำพรรษาที่วัดดอนม่วง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๗๘ แล้วย้ายมาจำพรรษาที่วัดพรหมจริยาวาส อ.เมือง จ.นครสวรรค์ สอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากนั้นได้เดินทางไปวัดระฆังโฆสิตาราม ก่อนไปศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เขตพระนคร
ต่อมาชาวบ้านวังเดื่อเห็นว่าวัดศรีอุทุมพรขาดเจ้าอาวาส จึงรวมตัวกันไปกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงพ่อจ้อยกลับมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดศรีอุทุมพร
พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านจึงกลับมาเป็นเจ้าอาวาส วัดศรีอุทุมพร
หลวงพ่อจ้อยได้ศึกษาวิทยาคม รวมทั้งวิธีการทำวัตถุมงคลจากพระเถระผู้มีชื่อเสียงหลายรูป เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เรียนวิชาการทำตะกรุดโทน ผ้าประเจียด การทำน้ำมนต์ การแก้คุณไสย ยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์มหาอำนาจ
เรียนการทำผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงพุทธคุณ ผงมหาราช จากหลวงพ่อฉาบ วัดคลองจันทร์ อ.หันคา จ.ชัยนาท ท่านได้แลกเปลี่ยนวิชาและเรียนพระคาถานะ ๑๐๘ หัวใจธาตุทั้ง ๔ หัวใจคาถาต่างๆ จากหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม
นอกจากนี้ ยังไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาการทำมีดหมอ วิธีสร้างสิงห์งาแกะ วิชาการทำน้ำมนต์จากหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
รวมทั้งศึกษาวิชาด้านการหุงน้ำมัน วิชาการประสานกระดูก ท่านเรียนจากหลวงพ่ออินทร์ วัดเกาะหงษ์ ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์
ลำดับงานปกครอง
- พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร
- พ.ศ. ๒๔๙๐ ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม
- พ.ศ. ๒๔๙๕ ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
- พ.ศ. ๒๔๙๘ ตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐาน
- พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน
- พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรและประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
มีกิจวัตรที่สำคัญ คือ การบิณฑบาต สวดมนต์ ทำสมาธิ ปฏิบัติกัมมัฏฐาน อีกทั้งทำงานด้านการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด การพัฒนาสร้างถนน ทำบ่อน้ำ เหมือง–ฝายกักเก็บน้ำให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ทำการเกษตรใช้ในการอุปโภคบริโภค
ยึดถือคติว่า เวลามีค่ายิ่ง จึงยิ่งเร่งทำงานตามที่ท่านตั้งใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งงานหลวง งานราษฎร์ ไม่ได้ขาด
พ.ศ. ๒๕๓๗ สร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิด รวมทั้งเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ของหลวงพ่อจ้อย
ด้านวัตถุมงคล หลวงพ่อจ้อยท่านสร้างวัตถุมงคลไว้มากมาย หลายชนิด หลายรุ่น ทั้งรูปหล่อ รูปถ่าย เหรียญ พระกริ่ง พระผง พระสมเด็จ พระพรหม ฤๅษี พระรอด พญาครุฑ ตะกรุด ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ธง มีดหมอ งาแกะ รูปนางกวัก ฯลฯ
ท่านสร้างเอง ปลุกเสกเอง เพียงรูปเดียว ไม่เคยจัดพิธีปลุกเสกหมู่ หรือนำของไปให้ใครช่วยปลุกเสก มีบางส่วนที่คณะกรรมการวัดจำเป็นต้องเปิดให้เช่าบูชาเพื่อหาทุนก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด ทำถนน ขุดบ่อน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างอาคารเรียน ศาลาการเปรียญ หอสมุด และอื่นๆ อีกมากมาย
ในช่วงบั้นปลายชีวิต สุขภาพท่านเริ่มอ่อนแอลง
ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕o หลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ เกิดอาการอาพาธอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่ร้านข้าวสาร “บุญมาพานิช” ซึ่งเป็นร้านของหลานสาวของหลวงพ่อจ้อย พระใบฏีกาสมศักดิ์ ปญฺญาธโร รองเจ้าอาวาส วัดศรีอุทุมพร พร้อมด้วยลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ ได้นำพาหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ โดยมีรถจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์มารับ อาการในระหว่างเข้ารับการรักษานั้น มีแต่ทรงกับทรุด หรือบางครั้งดูเหมือนว่าจะดีขึ้น ลูกหลานและศิษยานุศิษย์เกิดความสงสาร เห็นท่านอยากจะกลับวัด
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕o ลูกหลานและศิษยานุศิษย์ จึงได้ขออนุญาตแพทย์ผู้รักษา นำหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ กลับวัดศรีอุทุมพร โดยมีรถจากโรงพยาบาลมาส่ง ถึงอาคารอเนกประสงค์วัดศรีอุทุมพร
วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕o ในเช้าวันนี้เอง หลวงพ่อจ้อยให้สัญญาณว่าจะให้พาไปจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไปพักผ่อนที่บ้านศิษยานุศิษย์ผู้หนึ่ง แต่เมื่อถึงที่นั่น ปรากฏว่าอาการยิ่งทรุดลงมาก ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ เลยต้องนำหลวงพ่อจ้อยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปลาโลวชิรปราการ ระหว่างการรักษาที่แห่งนี้ อาการก็มีทั้งดีขึ้นบ้าง ทรุดลงบ้าง สลับกันอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งแพทย์ผู้ให้การรักษาให้ความเห็นกับลูกหลานและศิษยานุศิษย์ว่า ควรย้ายหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สะพานควาย กทม.
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕o หลวงพ่อจ้อยได้รับการดูแลจากคณะแพทย์แห่งนี้ด้วยดีตลอดมา อาการยังน่าเป็นห่วง และต่อจากนั้น ในความเห็นของแพทย์ ลูกหลาน และศิษยานุศิษย์ ตกลงกันว่าจะพาหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ กลับวัด ตามความประสงค์ของหลวงพ่อจ้อย “ซึ่งก็คงจะเหมือนกับคนชราทั่วไป ที่กล่าวว่า ถ้าจะตายก็ขอให้ไปตายที่บ้านดีกว่า”
ในเวลาเช้าวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕o แพทย์ได้นำหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ กลับวัดศรีอุทุมพร โดยรถฉุกเฉินของโรงพยาบาล
เวลาประมาณ ๑๑.o๙ น. รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลก็ได้นำหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ กลับถึงวัดศรีอุทุมพร เครื่องช่วยกระตุ้นส่วนต่างๆ หยุดทำงานทันที ท้องฟ้ามีสีงดงาม เป็นที่แปลกตาแปลกใจของผู้คนจำนวนมาก ที่ทราบข่าวแล้วมารอรับอยู่ที่วัด
หลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ จากลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ และประชาชนที่เคารพนับถือ ไปอย่างไม่มีวันกลับ สิริอายุ ๙๔ ปี พรรษา ๗๔
“ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่นอยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้ว ก่อเกื้อ รักษา”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.khaosod.co.th
https://sites.google.com/site/dhammatharn