วันนี้มีโอกาสได้ชมสุดยอดพระกริ่ง เป็นพระกริ่งที่ถือได้ว่าเป็นมงคลสูงสุดสำหรับวงการพระเครื่อง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในแผ่นดิน คือ เป็นพระกริ่งที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเททองด้วยพระองค์เอง แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งทรงพระประชวร ไม่สามารถทรงประกอบพิธีหลวงและพิธีเททองได้ นั่นคือ พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2499
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ องค์นี้เป็นพิมพ์แต่งเก่ามาแต่เดิม เนื้อทองเหลืองแก่ทองคำ จะเห็นประกายทองคำซึ่งผสมอยู่ทั่วทั้งองค์ การแต่งกริ่งองค์นี้แต่งได้งดงามครับ ผิวแห้งเก่าอมเขียว ทำให้ดูง่าย มีคราบน้ำตาลหรือสนิมทองเหลืองปรากฏอยู่กระจายทั่วทั้งองค์ ยิ่งเป็นจุดที่พิจารณาง่ายอีกจุดหนึ่ง นอกจากนี้ ร่องรอยจากในแม่พิมพ์ก็ยังปรากฏให้เห็น เช่น ร่องหลุมที่ข้อเท้าขวาองค์พระ หรือ จุดกลมด้านหลังองค์พระ เป็นต้น
จุดพิจารณาด้านหน้าของพระกริ่ง 7 รอบ
- พระเกศจะเป็นรูปปลี
- พระเนตรข้างซ้ายองค์พระจะเป็นหลุมลึกกว่าข้างขวา ถึงแม้องค์นี้จะเป็นพระแต่งมาก็ยังมีเค้าโครงเดิม
- เส้นใต้คอคม ลึก และชัดจากการแต่ง
- ผิวองค์พระจะเหลืองอมเขียว แห้งเก่า จะเห็นประกายทองจากการหล่อที่ส่วนผสมแก่ทองคำ
- เห็นนิ้วที่ฝ่าเท้าข้างขวา ของปลอมมักจะถอดไม่ติด
- มีร่องหลุมเป็นตำหนิในพิมพ์
- ปลายนิ้วเท้าซ้ายจะเรียวงามติดกับฝ่ามือขวาองค์พระ
- ผิวองค์พระจะเหลืองอมเขียว แห้งเก่า มีคราบสนิมทองเหลืองออกสีน้ำตาลเป็นหย่อมๆ
จุดพิจารณาด้านหลัง
- ผิวองค์พระจะเหลืองอมเขียว แห้งเก่า จะเห็นประกายทองจากการหล่อที่ส่วนผสมแก่ทองคำปรากฏอยู่ทั่วทั้งองค์
- จุดกลมทางด้านซ้ายมือเราจะใหญ่กว่าจุดกลมทางด้านขวามือเรา และจุดกลมทางด้านขวามือจะเยื้องต่ำลงมา เป็นตำหนิในพิมพ์ เลข ๗ ไทยต้องคมและจมลึก
เนื้อองค์พระเป็นโลหะผสม มี 2 กระแส คือ เนื้อออกแดง และเนื้อออกเหลือง จำนวนการสร้าง 500 องค์ สำหรับเนื้อออกแดงจะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นวาระที่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเททองด้วยพระองค์เอง ส่วนเนื้อเหลืองสร้างจากทองชนวนที่เหลือจากการเททองในวาระแรก นำกลับไปที่โรงงานและเททองกลับมา
มีบันทึกจากหนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร” ไว้ว่า โลหะที่ใช้หล่อ พระกริ่ง 7 รอบ ล้วนเป็นโลหะที่เป็นมงคลทั้งสิ้น อาทิ เศษชิ้นส่วนพระพุทธรูปโบราณที่ชำรุด ทองเหลืองเนื้อแดง ขันลงหิน เงินบริสุทธิ์ และทองคำบริสุทธิ์ นำมาหลอมรีดเป็นแผ่นแล้วลงอักขระพระยันต์ที่เรียกว่า แผ่นทองคำเปลว เพื่อเป็นทองชนวน
ในการสร้างหล่อพระกริ่งครั้งนี้ จะต้องประกอบพิธีตามแบบแผนที่สืบทอดกันมาโดยอิงจากพิธีหลวง ตามแบบของการสร้างวัตถุมงคลของวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ต้องนำชนวนโลหะที่จะใช้เททองหล่อเป็นองค์พระ มาทำพิธี สวดภาณวาร และ สวดพุทธาภิเษก เพื่อให้ชนวนโลหะมีความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่จะนำชนวนโลหะ ไปหลอมเป็นองค์พระ
พระกริ่ง 7 รอบ หรือ จัดสร้างในมหามงคลโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ ออกทรงพระผนวช เมื่อ พ.ศ. 2499
ในการหล่อ พระกริ่ง 7 รอบ นี้ เป็นกรรมวิธีหล่อพระแบบโบราณ ดำเนินการสร้างโดย ช่างมนตรี พัฒนางกูร แห่งบ้านช่างหล่อ มีพุทธศิลปะแบบสุโขทัย องค์พระพุทธปฏิมาแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง ด้านหลังองค์พระมีบัว 2 คู่ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ด้านล่างของบัวคู่หลังนั้น จะปรากฏเลขไทย “๗” เป็นตัวจมอยู่อย่างชัดเจน องค์พระส่วนใหญ่จะไม่มีการแต่งและตอกโค้ด และเป็นการเทหล่อแบบ “เทตัน” แล้วนำมาเจาะใต้ฐาน (ก้น) ขนาดเท่ารูแท่งดินสอ บรรจุเม็ดกริ่ง แล้วอุดด้วยโลหะ แต่งตะไบ แล้วขัดเรียบจนไม่เห็นรอยตะไบ
พระกริ่ง 7 รอบ เป็นวัตถุมงคลที่กล่าวได้ว่ามีคุณวิเศษถึง 5 ประการ คือ
- เป็นพระกริ่งรุ่นเดียวที่เททองโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
- เป็นพระกริ่งที่สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราชรูปที่ 13
- สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
- เป็นพระกริ่งที่สร้างร่วมกันระหว่างประมุขแห่งศาสนจักรและประมุขแห่งอาณาจักร
- เป็นพระกริ่งที่จำลองรูปพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำคัญประจำวัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นพระกริ่งที่ออกแบบสวยงามเสมือนจริงที่สุดองค์หนึ่ง
ด้วยคุณวิเศษดังกล่าวนี้ ทำให้พระกริ่ง 7 รอบ รุ่นนี้เป็นที่เสาะหาของนักสะสมพระ และมีของปลอมระดับเซียนออกมามากมายครับ
บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : www.posttoday.com
ผู้เขียน : อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com