“พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ หนึ่งในพระกริ่งยอดนิยมของวัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระกริ่งหนึ่งเดียว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จเททองด้วยพระองค์เอง ขณะทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร”
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือที่วงการพระเรียก “พระกริ่ง 7 รอบ” สร้างเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) องค์พระราชอุปัชฌาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และประการสำคัญ ในพิธีเททองหล่อพระกริ่ง ได้ทรงอาราธนาล้นเกล้า ร.9 ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และทรงประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นองค์ประธานเททองปฐมฤกษ์อันเป็นมหามงคลชัย ดังความที่ได้คัดลอกบางตอนจาก “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร” ดังนี้
… วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เวลา 20.30 น. เสด็จฯ พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระพุทธชินสีห์ ไวยาวัจกรวัดถวายเทียนชนวน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงจุดมาแล้ว ทรงรับเทียนชนวนนั้นจุดเทียนชัย เวลา 20.36 น. ในพิธีหล่อพระพุทธชินสีห์จำลอง แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงประชวรไม่สามารถจะเสด็จมาได้ พระสงฆ์สวดพระคาถาจุดเทียนชัย
… วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เวลา 07.30 น. เสด็จฯ ศาลาหน้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ไวยาวัชกรวัดทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำเปลว 84 แผ่น ทรงวางแผ่นทองคำเปลวลงในเบ้าเวลา 07.41 น. ทรงถือสายสิญจน์ ซึ่งโยงจากเบ้าเททองหล่อพระพุทธชินสีห์จำลอง แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา
พระพุทธชินสีห์จำลองที่หล่อนี้มี 2 แบบ คือ เป็น ‘พระบูชา’ หน้าตัก 4 นิ้วครึ่ง แบบหนึ่ง และเป็น ‘พระกริ่ง’ หน้าตัก 1.7 ซ.ม. แบบหนึ่ง หล่อขึ้นสำหรับงานบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุครบ 84 พรรษาบริบูรณ์ของสมเด็จพระสังฆราชฯ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประกอบพิธีหล่อแทนองค์สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ ตั้งพระนามตามพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของวัดบวรฯ คือ “พระพุทธชินสีห์” ซึ่งแปลตามความหมายได้ว่า พระผู้ชนะพระยาราชสีห์ หรือ พระผู้ชนะซึ่งงามสง่าประดุจพระยาราชสีห์ ส่วน “พระกริ่ง 7 รอบ” มาจากการจัดสร้างเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) นั่นเอง
ดำเนินการสร้างโดย ช่างมนตรี พัฒนางกูร แห่งบ้านช่างหล่อ มีพุทธศิลปะแบบสุโขทัย องค์พระพุทธปฏิมาแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง ด้านหลังองค์พระมีบัว 2 คู่ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ด้านล่างของบัวคู่หลังนั้น จะปรากฏเลขไทย “๗” เป็นตัวจมอยู่อย่างชัดเจน องค์พระส่วนใหญ่จะไม่มีการแต่งและตอกโค้ดใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นการเทหล่อแบบ “เทตัน” แล้วนำมาเจาะใต้ฐาน (ก้น) ขนาดเท่ารูแท่งดินสอ บรรจุเม็ดกริ่ง แล้วอุดด้วยโลหะ แต่งตะไบ แล้วขัดเรียบจนไม่เห็นรอยตะไบ
เนื้อองค์พระเป็นโลหะผสม มี 2 กระแส คือ กระแสเนื้อออกแดง และเนื้อออกเหลือง มีจำนวนการสร้างเพียง 500 องค์ สำหรับกระแสเนื้อออกแดงจะเป็นเนื้อที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ บางองค์จะออกแดงแบบลูกตำลึงสุก ในบางองค์ก็ออกแดงแบบเปลือกหอมแดง ขณะบางองค์ผิวกลับเป็นน้ำตาลไหม้ นอกจากนี้ในบางองค์นั้นตามผิวซอกมุมลึกที่ผิวยังไม่กลับ จะปรากฏคราบน้ำทองแทรกอยู่ปรากฏเป็นทองงามแพรวพราว แต่ในกระแสเนื้อเหลืองจะออกไปในทางเหลืองนวลอมเขียว เมื่อถูกสัมผัส หรือจับต้องนานๆ หรือนำไปแช่น้ำเพื่อทำน้ำมนต์ ผิวขององค์พระจะมีการแปรเปลี่ยน เรียกกันว่า “ผิวกลับ” ในกระแสเนื้อแดงผิวจะกลับเป็นสีน้ำตาลไหม้ ส่วนในเนื้อเหลืองจะมีผิวออกด้านๆ ไปทางสีเหลืองอมเขียว ที่มีคราบน้ำตาลปกคลุมเล็กน้อย
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ นับว่ามีคุณวิเศษถึง 5 ประการด้วยกัน คือ
1. เป็นพระกริ่งฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์
2. เป็นพระกริ่งรุ่นเดียวที่เททองโดยพระภิกษุภูมิพโล (ล้นเกล้าฯ ร.9 ขณะทรงผนวช)
3. สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราชรูปที่ 13 ซึ่งเป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ของล้นเกล้าฯ ร.9
4. สร้างร่วมกันระหว่างประมุขแห่งศาสนจักรและประมุขแห่งอาณาจักรในสมัยนั้น
5. จำลอง ‘พระพุทธชินสีห์’ พระพุทธรูปสำคัญประจำวัดบวรนิเวศ และมีความงดงามที่สุดองค์หนึ่ง
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ จึงถือเป็นพระกริ่งองค์สำคัญองค์หนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ได้รับความนิยมและแสวงหาอย่างสูง จวบจนปัจจุบัน แม้จะเป็นรอง ‘พระกริ่งไพรีพินาศ’ อยู่นิดหน่อย แต่ค่านิยมยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และหาดูได้ยากยิ่งเช่นกันครับผม
บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : www.arjanram.com
ผู้เขียน : อ.ราม วัชรประดิษฐ์