สมเด็จจิตรลดาขาว ในรัชกาลที่ ๙ ในวงการ คือ สมเด็จศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร ๒๕๑๖
จัดสร้างเมื่อครั้งโอกาส ๕ รอบ สสเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังสร สมณศักดิ์ในขณะนั้น)
พระแท้หมุนเวียนน้อยแล้ว พระที่สายตรงวัดบวรนิเวศวิหารต้องมี
เนื้อหาเข้มข้น ด้วยผงจิตรลดา ที่ทรงประทานถวายไว้ พระจึงมีพระนามอีกว่า “จิตรลดาขาว”
สมเด็จพระศาสดา ปี ๑๖ ในสมเด็จพระญาณสังวร พุทธคุณล้นเหลือ ครอบจักรวาล สุดยอดในพระหลักอีกองค์หนึ่งของสายวัดบวร ที่ต้องมีครับ
สืบด้วยมาจาก “สมเด็จจิตรลดา” พระพิมพ์ฝีพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยที่ทรงพระราชทานผงจิตรลดาส่วนพระองค์มาเป็นส่วนผสมมวลสารหลักในการจัดสร้าง ในสมัยก่อนนั้น จึงได้เรียกว่า “พระสมเด็จจิตรลดาขาว”
เมื่อได้รับพระมาแล้ว ให้ระลึกถึงพระบรมราโชวาท พระที่มีผู้อาราธนาใช้นั้น จะติดแผ่นทองด้านหลัง เรียกว่า “พระราชนิยม” ถ้าพระยังไม่ได้ติดแผ่นทอง แล้วแท้ คือพระเก็บรักษา และอยู่ในการสะสมเก็บเข้าของรังเซียน
พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปที่สร้างคราวเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารด้านทิศใต้ได้ชำรุด ไม่มีผู้ปฏิสังขรณ์ จึงได้อัญเชิญพระศาสดามาไว้ที่วัดบางอ้อช้าง ทางแม่น้ำอ้อมจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติปฏิสังขรณ์วัดประดู่ คลองบางหลวง จึงได้ขออัญเชิญพระศาสดาไปเป็นพระประธาน
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระศาสดาเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่พระอารามหลวงมาแต่โบราณ ไม่สมควรอยู่ที่วัดอื่น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ต่อมาได้มีพระราชดำริว่า พระศาสดาและพระพุทธชินสีห์เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญพระศาสดาจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖
ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา นับเป็นโอกาสพิเศษยิ่ง บรรดาศิษยานุศิษย์ในสมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ประชุมปรึกษาหารือกันถึงการจัดงานแซยิด และจัดหาของที่ระลึกเพื่อถวายให้ทรงแจกในงานครบรอบวันเกิดของพระองค์ในวัน ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นที่ตกลงกันว่า ให้สร้างวัตถุมงคลเนื้อผงสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม และให้จำลองพระศาสดาลงบนวัตถุมงคลที่สร้างขึ้น
สำหรับมวลสาร “พระสมเด็จศาสดา” นั้น ในที่ประชุมได้ตกลงว่า ให้ช่วยกันหาตามแต่จะหามาได้ แต่ต้องเป็นมงคลวัตถุที่ควรค่าแก่การนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระสมเด็จศาสดา
การสร้างวัตถุมงคล “พระสมเด็จศาสดา” ในครั้งนี้ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี และเป็นพระภิกษุจรตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชพิธีเสด็จออกทรงพระผนวชในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงการจัดงานฉลองอายุครบ ๕ รอบ ของสมเด็จพระญาณสังวร และได้ขอพระราชทานผงที่เหลือจากการทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดา ทรงพระราชทานผงที่เหลือนั้นทั้งหมดแก่ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมอันเป็นมงคลแก่พระสมเด็จศาสดา
สำหรับแม่พิมพ์ที่ใช้ในการกดพิมพ์พระสมเด็จศาสดา กองกษาปณ์แห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ ได้เป็นผู้ออกแบบแม่พิมพ์ โดยได้ออกแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดสูง ๓๕ มิลลิเมตร กว้าง ๒๓ มิลลิเมตร ความหนา ๖ มิลลิเมตร มีรูปจำลองพระศาสดาประดิษฐานภายในซุ้มครอบแก้ว
เมื่อแกะพิมพ์แล้วได้ทดลองพิมพ์ออกมาจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ ม.ร.ว.ประสมศักดิ์ จรูญโรจน์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้นได้ดูแบบ เมื่อดูแล้วได้ให้ความเห็นว่า พื้นที่บริเวณด้านบนพระเศียรภายในซุ้มครอบแก้วมีความโล่งกว้างเกินไป มองดูแล้วเวิ้งว้างมาก จึงได้ให้แกะพิมพ์เพิ่ม โดยแกะเป็นเส้นรัศมีกระจายนับได้ ๑๗ เส้น จากนั้นจึงได้กดพิมพ์พระออกมา นับรวมทั้งพิมพ์ลองพิมพ์ ซึ่งไม่มีรัศมีได้ ๖,๑๖๔ องค์
จากนั้นได้นำพระสมเด็จศาสดาทั้งหมดถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร พระองค์ทรงอธิษฐานจิตเป็นการส่วนพระองค์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ จนถึงเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น จึงได้จัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้นที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังร่วมในพิธีพุทธาภิเษกมากมาย
พระสมเด็จศาสดานี้ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมแสดงมุทิตาจิตอย่างทั่วถึง ส่วนที่เหลือได้นำออกมาให้ประชาชนทั่วไปบูชา นำปัจจัยที่ได้ไปทอดกฐินที่วัด วังโพธิการาม จังหวัดกาญจนบุรี และบางส่วนได้เก็บเป็นที่ระลึกไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร
บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : ณัฐพล เจริญต่อกิจ
ผู้เขียน : ป๊อปวัดบวร