คำอธิบาย
รหัส : SC64-0317-011
พระพุทธนราวันตบพิธ ฉลอง 72 พรรษา (6 รอบ) รัชกาลที่ 9 ปี 2542 ผสมมวลสารสมเด็จจิตรลดา เส้นพระเจ้า (พระเกศาในหลวง รัชกาลที่ 9) จีวรเมื่อครั้งทรงผนวช และมวลสารจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกล่องเดิม
ในวาระอันเป็นมิ่งมงคลสมัยอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 6 รอบ 72 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2542 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระพุทธนราวันตบพิธ พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พสกนิกรได้สักการะบูชา โดยนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายสนับสนุนมูลนิธิชัยพัฒนา
พระพิมพ์พระพุทธนราวันตบพิตร เป็นพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองปางห้ามสมุทร
เนื้อผง ขนาดสูง 3.2 เซนติเมตร ด้านหลังประดิษฐาน ตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมายุ 72 พรรษา เนื้อพระประกอบด้วยมวลสารจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน จากประเทศเนปาลและอินเดีย และจากวัดสำคัญและเก่าแก่หลายแห่งในประเทศศรีลังกา จีน และญี่ปุ่น รวมทั้งมวลสารจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และวัดสำคัญๆ ทั่วประเทศ ผงพุทธคุณจากพระคณาจารย์ที่เคารพบูชาทั่วพระราชอาณาจักร
ที่สำคัญยิ่งก็คือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ พระราชทานเส้นพระเจ้า (พระเกศา) และจีวร เมื่อครั้งทรงผนวช และมวลสารส่วนพระองค์ (ผงจิตรลดา) โดยพระราชทานผ่านสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช อัญเชิญมาผสมอยู่ในเนื้อพระพุทธนราวันตบพิธนี้ด้วย
พิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสก พระพุทธนราวันตบพิธ จัดสร้างโดยมูลนิธิชัยพัฒนา
เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และเสด็จมาประทับ ณ พระปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงสถาปนาพระพุทธปฏิมาประจำพระองค์ไว้ในพระบวรพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามพระพุทธปฏิมานี้ว่า “พระพุทธนราวันตบพิธ” ได้เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระปั้นหยา เป็นพระราชกุศลสืบไป
องค์พระพุทธนราวันตบพิธ เป็นพระยืนยกพระหัตถ์ทั้งสอง ปางห้ามสมุทร อันเป็นพระประจำพระชนมวาร คือ วันจันทร์ ประทับยืนบนฐานกลมบัวคว่ำบัวหงายบนตั่งแข้งสิงห์เหนือหน้ากระดาน และมีฐานภัทรบิฐ สัญลักษณ์ประจำพระองค์รองอีกชั้นหนึ่ง ความสูงถึงสุดพระรัศมี 36.5 เซนติเมตร ลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์พระและฐาน
คณะกรรมการจัดสร้างขณะนั้น คือ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องค์มนตรี เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และนายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นกรรมการดำเนินงาน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระ ชนมพรรษา 72 พรรษา และเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระพิมพ์เป็นพระเนื้อผง จากต้นแบบพระพุทธนราวันตบพิธพระพุทธรูปฉลองพระองค์
ประการสำคัญที่สุด ได้พระราชทานมวลสารส่วนพระองค์ โดยเฉพาะเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศาของพระองค์) ให้นำมาผสมในเนื้อพระ เพื่อให้พสกนิกรได้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ตลอดไป
พระเนื้อผงที่จัดสร้าง เป็นพระประทับยืนยกพระหัตถ์สองข้างบนพื้นที่ทำเป็นรูป ซุ้มโค้งแหลม สูง 3.2 เซนติเมตร ด้านหลังประดิษฐานตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา
เนื้อหามวลสาร นอกจากเส้นพระเจ้าและมวลสารส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานมวลสารมหามงคลอีกประการหนึ่งคือ พระจีวรที่องค์ครองคราวเสด็จออกผนวช เมื่อปี พ.ศ. 2499
นอกจากนั้น คณะกรรมการยังได้รวบรวมมวลสารจากพระธาตุสำคัญทุกปีเกิด จากวัดสำคัญ 143 วัดทั่วประเทศ สถานที่สำคัญอันได้แก่ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในอินเดียและศรีลังกา นอกจากนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ก็ได้ทรงพระราชทานมวลสารพุทธมงคลสำคัญมาร่วมสร้างพระพิมพ์พระพุทธนราวันตบพิธ อีกจำนวนมาก
สำหรับการผสมมวลสารมหามงคลพระราชทานนั้น อาจารย์อนันต์ สวัสดิ์สวนีย์ ซึ่งเป็นนายช่างแห่งกองช่างสิบหมู่ กรมศิลปกร ได้นำมวลสารมหามงคลทั้ง 3 ประการ มาซอยและย่อยให้เป็นผงละเอียดยิบ เพื่อจะได้ผสมมวลสารอย่างอื่นอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นประชาชนทุกท่านมีสิทธิ์ได้รับมวลสารมหามงคลอย่างถ้วนทั่วกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีมหาพุทธาภิเศก เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมอบให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ เป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์และจุดเทียนชัย มีพระเถระและพระคณาจารย์ รวม 72 รูปทั่วประเทศ อาทิ
- สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร
- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย
- หลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จ.เลย
- หลวงพ่อพวง สุวีโร วัดป่าปูลู จ.สกลนคร
- หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น
- หลวงปู่หงส์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี จ.สุรินทร์
- หลวงพ่อม่วง วัดยางงาม จ.ราชบุรี
- หลวงปู่ทิม วัดพระขาว พระนครศรีอยุธยา