FORGOT YOUR DETAILS?

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ศาสตราจารย์ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระองค์มีพระธิดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ปัจจุบันทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

การศึกษา

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนจิตรลดา ทรงเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงได้รับรางวัลเรียนดีตลอดระยะเวลา ๔ ปีการศึกษา และทรงสำเร็จปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตวิชาเอกเคมีเกียรตินิยมอันดับ ๑ ทรงได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมีด้วย

เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนยอดเยี่ยม เมื่อทรงมีพระดำริถึงการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลจึงอนุมัติให้ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้โดยไม่ต้องผ่านมหาบัณฑิตก่อน ทรงศึกษาด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ใฝ่พระทัยในการศึกษาเล่าเรียนเป็นที่ยิ่ง ทั้งที่มีพระราชกิจในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ก็ยังเสด็จพระดำเนินไปทรงพระอักษรร่วมกับพระสหายในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทรงงานในห้องแล็บด้วยพระองค์เองอย่างไม่ทรงท้อถอย แม้จะทรงแพ้สารเคมีก็ตาม และทรงทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “Part I: Constituents of Boesenbergia pandurata (yellow rhizome) (Zingiberaceae). Part II: Additions of lithio chloromethyl phenyl sulfoxide to aldimines and alpha,beta-unsaturated compounds”

ต่อมาสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสำเร็จการศึกษา และได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอในฐานะนักวิทยาศาสตร์ จึงได้ทรงเข้าศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่างๆ ที่สนพระทัย อาทิ การเข้าอบรมระดับหลังปริญญาเอก (Post-Doctoral Training) เรื่อง Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering จากมหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมนี ศึกษาด้านพิษวิทยา ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (หลักสูตรแบบไม่มีหน่วยกิตรายวิชา) ในปีการศึกษา ๒๕๔๙ จากผลงานวิจัยเรื่อง “Molecular Genetic Studies and Preliminary Culture Experiments of Scallops Bivalve: Pectinidae) in Thailand”

ปัจจุบัน ทรงศึกษาในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีการศึกษา ๒๕๖๐

พระกรณียกิจที่สำคัญ

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ : ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการที่มีศักยภาพและวิทยาการที่ก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตลอดไป ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๘

และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติ การเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง ประกอบกับทรงพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ : นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ (Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการในการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูง ที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ ที่สามารถให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสร้างเสริมความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย และให้ความช่วยเหลือ ฝึกอบรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ

จากผลของการทรงงานอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นที่ยอมรับ และได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ คณะกรรมการรางวัลฮอลแลนเดอร์ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลก ในสาขาสารเคมีก่อมะเร็งและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับรางวัล EMS Hollaender International Award ประจำปี ค.ศ. ๒๐๐๒ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (IUCN The World Conservation Union) สวิตเซอร์แลนด์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย

นอกจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะทรงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว พระองค์ยังทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การจัดการป่าไม้ การจัดการสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลรวมไปถึงงานส่งเสริมสถานภาพทางสังคมของสตรีไทยอีกด้วย

งานประมงน้อมเกล้าฯ : งานประมงน้อมเกล้าฯ เป็นกิจกรรมการแสดงนิทรรศการของการประมงในประเทศไทย โดยเน้นไปที่ปลาสวยงามเป็นหลัก จัดขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงให้กรมประมง ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดงานดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ บริเวณสวนอัมพร เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงมีต่อวงการแพทย์ และการประมง และเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างตึกสยามมินทร์ เนื่องในโอกาสที่โรงพยาบาลศิริราชสถาปนาครบรอบ ๑๐๐ ปี

ต่อจากนั้นทรงมีรับสั่งให้จัดงาน “วันประมงน้อมเกล้าฯ” ขึ้นทุกปี และคณะกรรมการจัดงานมีความเห็นพ้องว่าให้นำเงินรายได้จากการจัดงานทุกปี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งทรงตั้งขึ้นเพื่อศึกษางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ในการนี้ คณะกรรมการจัดงานได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จมาทรงเป็นประธานเปิดงานและจัดตู้ปลาสวยงาม เพื่อพระราชทานแก่ผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดในกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

มูลนิธิ หน่วยงาน และโครงการในพระอุปถัมภ์

  • มูลนิธิจุฬาภรณ์
  • มูลนิธิเทียนส่องใจเพื่อคนไข้โรคลมชัก
  • มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน
  • มูลนิธิรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • โครงการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักครบวงจร
  • โครงการหารายได้เพื่อสัตว์ป่วยอนาถา
  • โรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม ๐๔ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
  • โรงเรียนมัธยมศึกษาจุฬาภรณ์
  • สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
  • สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย
  • สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย
  • กองทุนจุฬาภรณอุดรธานี

บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา | เผยแพร่เมื่อ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓

TOP