บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา : thaipublica.org | เผยแพร่เมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ผู้เขียน : ไตรรงค์ บุตรากาศ
ก่อนอื่น ผมขอออกตัวว่า ผมเขียนถึงเรื่องนี้ด้วยความเคารพ ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายอะไรแต่อย่างใด ตัวผมเองก็มีความเคารพในพุทธศาสนา และก็มีพระเครื่องของอาจารย์ที่เคารพเลื่อมใสเก็บไว้บ้างพอสมควร แต่ไม่ได้เป็นเซียนอะไรนะครับ (กรุณาอย่าตั้งผมนะครับ) ผมเสนอแค่มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ และความเข้าใจทางธุรกิจอีกวงการหนึ่งครับ
หนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยนิยมทำกันเวลาไปเที่ยวที่ไหนคือไปไหว้พระที่วัด ไหว้พระ ชมวัดเสร็จแล้ว บางคนก็แวะเช่าวัตถุมงคลกลับไปเป็นศิริมงคลกับตัวเอง หรือฝากคนอื่นบ้าง แต่หากเป็นวัดที่เกจิดังแล้วแทบไม่มีโอกาสเช่าได้เลย หมดไปตั้งแต่วันที่ออก หรือเหลือเฉพาะที่ไม่ใช่พระหลัก รุ่นรองๆ เนื้อล่างๆ (เนื้อบน เนื้อล่าง เป็นภาษาเรียกวัสดุที่ใช้ทำพระเครื่องครับ เนื้อบน ถ้าเป็นโลหะ เช่น เนื้อเงิน เนื้อทองคำ เนื้อนวะ โลหะ เนื้อล่างๆ เช่น ทองแดง ทองแดงชนวน เป็นต้น ส่วนถ้าเป็นพระผง ขึ้นอยู่กับมวลสารที่ใส่) เท่านั้น
ที่เป็นแบบนั้นเพราะการตลาดการประชาสัมพันธ์ทำตั้งแต่เริ่มสร้าง ไม่ใช่เมื่อทำเสร็จ เมื่อคิดจะทำวัตถุมงคล สิ่งจำเป็นคือการประชาสัมพันธ์ (อันนี้ไม่พูดถึงเรื่องการขออนุญาตต่างๆ) ซึ่งเริ่มจากคนใกล้วัด ลูกศิษย์ ญาติโยม ร้านพระเครื่อง และร้านรับจองพระ มีการจัดทำวัสดุประชาสัมพันธ์ และเพื่อให้ดำเนินการราบรื่นมักมีการเปิดจอง วัตถุมงคลที่เป็นที่นิยม ร้อยทั้งร้อย หมดวันจอง
วัตถุมงคลที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเรื่องทำมาค้าขาย โชคลาภการเงิน วันเปิดจอง เปิดตั้งแต่ 8 โมงเช้า ตี 5 มีคนเหมารถจากต่างจังหวัดมารอ และมีคิวสะสมทั้งผู้บูชาทั่วไป ร้านขายพระ และร้านรับจองพระ ประเภทแบบหลังๆ ไม่ได้มาจองแบบเพื่อขายเอง แต่หลายคนจองเพื่อขายใบจอง หรือรับเข้าร้านให้เช่าต่อ เหล่านี้ไม่ได้จองหลักสิบ แต่หลักร้อย หรือหลักพันขึ้นไป
แล้วคนที่อยากได้บูชาส่วนตัวจะไปหาเช่าได้จากที่ไหน คำตอบคือ เช่าจากร้านพระ หรือเช่าจากร้านรับจองนั่นเอง ราคาที่เช่า ออกจากวัดเมื่อวาน วันนี้ก็ต้องบวกขึ้นแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ 30-50% แต่ส่วนใหญ่มากกว่านั้นหรือเป็นเท่าตัว “พี่มาจองเองก็ได้ครับ แต่ต้องมาต่อคิวยาวแต่เช้า อย่างพี่จะมาไหวหรือครับ มาเช่าผ่านพวกผมคุ้มกว่าครับ” นี่คือความเห็นที่ผมถามจากแผงพระภายในวัด (ไม่ใช่ของวัด) เช่าหรือไม่ เช่าสิครับ นั่นคือคำตอบ ผมว่าเขามีเหตุผลทีเดียว เพราะผมคงไม่สามารถไปรอคิวได้แบบนั้น ราคาการเช่าพระเป็นเรื่องความเชื่อและศรัทธาล้วนๆ (แต่ในระดับหนึ่ง ราคามีเรื่องเหตุผลประกอบ ไว้คุยกันต่อครับ)
ถ้าท่านบอกว่า คอนโดที่ดังๆ ทุกวันนี้ หมดตั้งแต่วันจอง ต้องไปซื้อใบจองกันต่อ วงการพระเครื่องคือการพัฒนาที่ไม่ต่างกัน และในความจริงแล้วมีการพัฒนาไปมากกว่ามาก
พัฒนากันไปอย่างไร ในอดีต การที่วัดหนึ่งๆ จะสามารถสร้างวัตถุมงคลได้ เป็นเรื่องบุญและวาสนา ประกอบกับจริยวัตรของเกจิของวัดแห่งนั้นเป็นอย่างมาก รวมถึงความคิดการเป็นนักพัฒนาของเกจิแต่ละท่าน
วัดที่โชคดี ได้เจ้าอาวาสที่มีครูบาอาจารย์ และได้เรียนวิชาอาคมต่างๆ ตามความเชื่อสมัยโบราณ มีจริยวัตรงดงาม มีเมตตา มีลูกศิษย์ลูกหามาก เมื่อถึงวันที่ท่านต้องพัฒนาบูรณะวัด ท่านจะปรึกษาลูกศิษย์เพื่อทำวัตถุมงคล หาเงินเข้ามาบูรณะวัด
หลายๆ ครั้ง บารมีที่มีคนนับถือมาก ไม่เพียงทำออกมาเพื่อรวบรวมปัจจัยบูรณะวัด ยังดูแลบูรณะสาธาณูปโภคให้ชุมชนอีก หรือยังเผื่อแผ่ทำให้วัดใกล้เคียงที่ไม่ได้มีเกจิมีวิชา หรือขาดแคลนบารมี ลูกศิษย์ลูกหาไม่พอด้วย อันนี้คือความเมตตาบารมีแบบเกจิรุ่นเก่าๆ ที่สร้างกันขึ้นมา
อย่างไรก็ดี โอกาสที่ส่วนผสมทั้งหมดนั้นจะลงตัว คือ มีวัดที่เกจิ อาจารย์มีวิชา มีจริยวัตรที่งดงาม มีลูกศิษย์นับถือ มีความสามารถในการจัดสร้างวัตถุมงคล และทุนในจัดสร้างและประชาสัมพันธ์ บางครั้งก็ยากที่จะเกิดตามธรรมชาติ
บางครั้งจึงเกิดจากฆราวาส ซึ่งมีความรู้ในด้านเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าพอมีส่วนผสมพื้นฐานได้ครบ ก็ช่วยดำเนินการจัดสร้างและประชาสัมพันธ์ให้ รวมถึงการตลาดออนไลน์ต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ จุดประสงค์การสร้างก็เพื่อบูรณะวัดและอื่นๆ และแน่นอน ธุรกิจก็ต้องดำเนินไปนะครับ ในโลกยุคปัจจุบัน ก็ต้องคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หรือการได้รับวัตถุมงคลเหล่านั้นเพื่อไปเช่าต่อ
เรื่องเหล่านี้คือการตลาด แม้บางท่านบอกว่าการตลาดและพุทธศาสนาไม่ควรมาอยู่ด้วยกัน ผมเองอาจจะไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ การตลาดกับพุทธศาสนามีมาเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่จะเป็นรูปแบบแค่ไหน อยู่ที่เราจะมองอย่างไร และสำคัญที่สุดคือ เจตนาและความสุจริตในการทำ และการดำเนินการที่เหมาะสมกับการเป็นพุทธครับ
ติดตามต่อ ตอนที่ 4 (ตอนจบ) : พระเครื่องก็มีติดดอย และการเล่นพระเครื่องแบบไหนไม่เสียใจ