ประวัติการสร้าง
เมื่อปี พ.ศ. 2508 ทางวัดบวรฯ ได้ดำเนินการจัดงานอันเป็นมหามงคลยิ่ง 4 ประการ คือ
วันที่ 24 สิงหาคม 2508 เป็นวันมหามงคลที่พึงจารึกเป็นประวัติการณ์พิเศษ ด้วยสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ในโอกาสที่มีพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการกุศลอีก 3 อย่าง ในวันมหามงคลนี้ อันควรเรียกได้ว่า “จาตุรงคมงคล”
อนึ่ง ทางวัดบวรริเวศวิหาร ได้ขอพระบรมราชานุญาตสร้าง เหรียญพระบรมรูปทรงผนวช มีพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นลายพระหัตถเลขาทรงไว้ในสมุดทะเบียนวัดว่า “ภูมิพลอดุลยเดช ปร. ภูมิพโล” อยู่ภายใต้พระบรมรูป (ถ่ายทำจากลายเซ็นตามจริง) เบื้องบนมีอักษรว่า “ทรงผนวช ๒๔๙๙” ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรูปพระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร มีอักษรเป็นวงกลมที่ขอบเหรียญว่า “สมเด็จฯสมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา ๒๙ สิงห์ พ.ศ. ๒๕๐๘”
เหรียญทั้งหมด ได้นำเข้าในพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถึง 4 ครั้ง คือ
- ในวันที่ 27 สิงหาคม 2508 เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพุทธาภิเษกครั้งหนึ่ง
- วันที่ 28 สิงหาคม 2508 เสด็จฯ ในพระราชพิธีกุศลทักษิณานุปทานถวายสมเด็จพระราชบิดาครั้งหนึ่ง
- วันที่ 29 สิงหาคม 2508 เสด็จ 2 ครั้ง ตอนเช้าเสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา ทรงปฏิบัติพระราชกิจทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอีก 3 อย่าง มีทรงประกอบพิธีหล่อพระพุทธรูป ภปร. เป็นต้น
พิธีพุทธาภิเษก ได้ประกอบพิธีกันทั้งคืน มีพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณนั่งปรกถึง 5 ชุด ชุดละ 8 องค์ ล้วนแล้วแต่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณและมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิเช่น
- สมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราชวัดบวรฯ กรุงเทพมหานคร
- หลวงปู่ดี วัดเหนือ กาญจนบุรี
- หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร
- อาจารย์นำ วัดดอนศาลา จ.พัทลุง
- หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม
ทำให้เหรียญพระบรมรูปทรงพระผนวชรุ่นแรกนี้ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน และเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของนักนิยมพระเครื่อง
การจัดสร้างมีทั้งแบบบูชาและห้อยคอ ดังนี้
1. เหรียญกลมขนาดบูชา เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 ซม. จัดสร้างทั้งหมด 3 เนื้อ ดังนี้
- เนื้อเงิน
- เนื้อทองแดง
- เนื้อสตางค์ (ทองฝาบาตร) จำนวนการสร้างไม่เกิน 100 องค์
2. เหรียญกลมขนาดห้อยคอ จัดสร้างทั้งหมด 5 เนื้อ ดังนี้
- เนื้อทองคำ (หูเชื่อม)
- เนื้อเงิน (หูเชื่อม)
- เนื้อทองแดง
- เนื้ออัลปาก้า
- เนื้อสตางค์ (ทองฝาบาตร) ไม่ทราบจำนวน เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกจำนวนไว้
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 นั้น ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานบนเหรียญที่ระลึกหลายครั้ง เหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นที่แสวงหาของนักสะสม คือ เหรียญที่ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2508 รู้จักกันในนาม “เหรียญทรงผนวช” ซึ่งความจริงแล้ว เหรียญทรงผนวช ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง เนื่องจากจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้วถึง 9 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในปี พ.ศ. 2499 แต่ “เหรียญทรงผนวช” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ พระราชกุศล จาตุรงคมงคล
“เหรียญทรงผนวช” มีเนื้อที่จัดทำขึ้นคือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และแยกบล็อกด้านหลังได้เป็น 2 บล็อก คือ บล็อกธรรมดา (บล็อกปกติ) และบล็อกนิยม (มีรอยเว้าที่ขอบเหรียญตรงหูห่วง) เป็นเหรียญที่ปั๊มออกมาจากกองกษาปณ์ ดังนั้น เหรียญจะมีความคมชัดสูง เห็นรายละเอียดชัดเจน รอยตัดขอบด้านข้าง จะเป็นลักษณะการปั๊มกระแทก เป็นเหรียญที่นับวันจะยิ่งทรงคุณค่า กอปรกับพุทธลักษณะแม่พิมพ์อันสวยงาม ถึงแม้ในสมัยนั้นจำนวนการสร้างจะค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมแสวงหาอย่างสูงตลอดมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
ที่มา : Anurak Numpitisuk
เจ้าของภาพ : junior sarayouth